รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กำชับทุกหน่วยงานในสังกัดเตรียมพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนพื้นที่ภาคอีสานที่ประสบอุทกภัยจากผลของพายุดีเปรสชั่นกิสนา โดยเฉพาะอุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ นครราชสีมา ซึ่งอยู่ในแนวพายุเคลื่อนตัวผ่าน และสำรองยาช่วยเหลือน้ำท่วม 1 ล้านชุดไว้ที่ส่วนกลาง พร้อมสนับสนุนทุกจังหวัดทันที ขณะเดียวกันประสานกระทรวงการต่างประเทศ จัดส่งยาสามัญประจำบ้านช่วยผู้ประสบอุทกภัยชาวฟิลิปปินส์อีก 1 แสนชุด
วันนี้ (30 กันยายน 2552) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำท่วมจากพายุดีเปรสชั่นกิสนา ว่า ขณะนี้พายุกิสนาได้เข้ามาถึงประเทศไทยแล้ว ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศเตือนภัยพื้นที่ที่อยู่ในแนวพายุเคลื่อนตัวผ่าน ได้แก่ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ และนครราชสีมา คาดว่าจะมีฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก รวมทั้งพื้นที่ในภาคอีสานและภาคตะวันออก ที่อยู่บริเวณที่ลาดเชิงเขา ใกล้ทางน้ำไหลและที่ลุ่ม ในวันนี้ ได้มอบหมายให้นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข สั่งการสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เตรียมความพร้อมดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย และให้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เตรียมความพร้อมหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน หากเกิดวิกฤตด้านอุทกภัยในหลายพื้นที่ ให้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินที่กระทรวงสาธารณสุข เพื่อประสานการแก้ไขปัญหาและให้ความช่วยเหลือทุกพื้นที่อย่างทันท่วงที นอกจากนี้ ได้ให้องค์การเภสัชกรรม จัดเตรียมยาสามัญประจำบ้านไว้ 1 ล้านชุด รองรับโรคที่มากับน้ำท่วม เช่น น้ำกัดเท้า ตาแดง อุจาระร่วง พร้อมจัดส่งให้แก่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดที่ร้องขอทันที
นายวิทยา กล่าวต่อว่า สำหรับการให้ความช่วยเหลือประเทศฟิลิปปินส์ที่ได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง มีประชาชนได้รับผลกระทบและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก จากการประชุมวานนี้ (29 กันยายน 2552) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติว่า ไทยจะให้ความช่วยเหลือประเทศฟิลิปปินส์ โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข ดูแลให้ความช่วยเหลือด้านเวชภัณฑ์ ในวันนี้ได้สั่งการให้องค์การเภสัชกรรมเตรียมยาสามัญประจำบ้าน 1 แสนชุด และมอบหมายให้นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประสานงานกับกระทรวงการต่างประเทศ เรื่องการจัดส่งยา เวชภัณฑ์การแพทย์ต่างๆ รวมทั้งติดตามว่าประเทศฟิลิปปินส์ต้องการการสนับสนุนเวชภัณฑ์ใดเพิ่มเติม เพื่อประสานงานองค์การเภสัชกรรมในการส่งความช่วยเหลือให้ต่อไป
ด้านนายแพทย์ชาตรี เจริญชีวะกุล เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ได้สั่งการให้ศูนย์สั่งการทุกจังหวัดเตรียมความพร้อม และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมแจ้งเตือนภัยประชาชนเป็นระยะๆ โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงภัยตามประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา ล่าสุดได้รับรายงานพื้นที่ที่กำลังประสบอุทกภัยมี 5 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี ทั้ง 25 อำเภอ มุกดาหาร สุรินทร์ นครราชสีมา และบุรีรัมย์ ยังไม่มีรายงานผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต
****************************** 30 กันยายน 2552
View 12
30/09/2552
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ