กระทรวงสาธารณสุข เผยผลการเฝ้าระวังเชื้อโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ของไทย พบสายพันธุ์เดียวกันกับที่ระบาดในอเมริกา ซึ่งตรงกับวัคซีนป้องกันที่ได้สั่งซื้อ 2 ล้านโด๊ส พร้อมยืนยันวัคซีนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ 2009 ปลอดภัย องค์การอนามัยโลกยืนยันมาตรฐานใช้ทั่วโลก และมีใช้ก่อนประเทศไทย สถานการณ์ล่าสุด สามารถลดผู้เสียชีวิตได้มากขึ้น ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิต 7 ราย ใน 6 จังหวัด เน้นย้ำหากประชาชนป่วย มีอาการไข้หวัด ในช่วงเทศกาลทอดกฐิน ให้หยุดพัก หากต้องการทำบุญแนะใช้วิธีฝากซองทำบุญแทน
เช้าวันนี้ (23 กันยายน 2552) ที่ โรงแรมเซนทารา แกรนด์แอท เซ็นทรัลเวิลด์ กทม. นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ภาสกร อัครเสวี ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา และนายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกันแถลงข่าว ความคืบหน้าสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ 2009
นายมานิต กล่าวว่า จากการประเมินสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่ 2009 ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า จำนวนผู้ป่วยที่ไปรับการตรวจที่แผนกผู้ป่วยนอกตามโรงพยาบาลต่างๆ มีแนวโน้มลดลงจากที่เคยพบวันละประมาณ 10,000 คน เหลือประมาณ 8,000 คน แต่ยังวางใจไม่ได้ เพราะช่วงนี้สภาพอากาศเริ่มเย็นลง ซึ่งเชื้อไวรัสสามารถแพร่พันธุ์ได้ดีขึ้น ได้เน้นย้ำให้ทุกจังหวัดเพิ่มความเข้มข้นมาตรการ 2 ลด 3 เร่งต่อเนื่อง ซึ่งมาตรการนี้ ได้ผลดีมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากจำนวนผู้เสียชีวิตลดลง สัปดาห์ที่ผ่านมา ตั้งแต่ 13-19 กันยายน 2552 มีผู้เสียชีวิต 7 ราย เป็นชาย 5 ราย หญิง 2 ราย ลดลงจากช่วงวันที่ 6-12 กันยายน 2552 ซึ่งมี 11 ราย โดยมีรายงานใน 6 จังหวัด ได้แก่ศรีสะเกษ 2 ราย และที่ขอนแก่น เพชรบูรณ์ สงขลา พิษณุโลก สุโขทัย จังหวัดละ 1 ราย โดยเป็นกลุ่มเสี่ยงคือมีโรคประจำตัว 6 ราย รวมยอดผู้เสียชีวิตตั้งแต่ 28 เมษายน 2552 เป็นต้นมา มีทั้งหมด 160 ราย ชายต่อหญิงในอัตราใกล้เคียงกัน เกือบร้อยละ 60 อายุระหว่าง 21-50 ปี ขอเน้นย้ำประชาชน โดยเฉพาะนักเรียนที่เริ่มทยอยปิดเทอม หากมีอาการป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่ ขอให้หยุดพักผ่อนอยู่ที่บ้านจริงๆ เป็นเวลาอย่างน้อย 5 วัน เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่สู่คนอื่น
นายมานิตกล่าวต่อว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้เร่งให้ทุกจังหวัดประชาสัมพันธุ์การป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ให้ได้มากที่สุดเนื่องจากเริ่มเข้าสู่ปลายฝนต้นหนาว ภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือจะได้รับลมหนาวก่อนภาคอื่น ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพิ่มการเฝ้าระวังให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2552 เป็นต้นไปจะเริ่มเป็นเทศกาลทอดกฐิน พุทธศาสนิกชนจะเดินทางเป็นหมู่คณะไปทอดกฐินสามัคคี ตามวัดทั่วประเทศ เสี่ยงที่จะเกิดการระบาดของไข้หวัดใหญ่ จึงขอย้ำเตือนผู้ที่มีอาการไข้หวัดในช่วงนี้ขอให้หยุดพักรักษาตัวที่บ้านจริงๆ จนหายขาด หากต้องการทำบุญให้ใช้วิธีฝากซองทำบุญแทน ขณะเดียวกันให้ปฎิบัติตัวยึดหลัก กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือให้ต่อเนื่องซึ่งจะเป็นการป้องกันตัวที่ดีที่สุด และหากมีข้อสงสัยไม่เข้าใจเรื่องโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 สามารโทรสอบถามสายด่วนไข้หวัดใหญ่ 1422 ได้ตลอดเวลา
นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ 2009 ศูนย์ไข้หวัดใหญ่แห่งชาติ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้เก็บตัวอย่างจากผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ระหว่าง 1 มกราคม2552 31 กรกฎาคม 2552 จำนวน 2,011 ตัวอย่างจากโรงพยาบาล 9 แห่ง ได้แก่ แม่สอด หนองคาย พระปกเกล้าจันทบุรี หาดใหญ่ แม่จัน เชียงแสน เกาะช้าง กรุงเทพ-สมุย เกาะสมุย และศูนย์บริการสาธารณสุข 17 กรุงเทพมหานคร รวมทั้งหมด 10 แห่ง พบเชื้อร้อยละ 44 เป็นไข้หวัดใหญ่ 2009 ที่เหลือเป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ทั้งนี้ เมื่อวิเคราะห์สายพันธุ์พบว่า ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่แยกได้ในไทยมีความคล้ายคลึงกับเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่พบระบาดในประเทศสหรัฐอเมริกาสูงถึงร้อยละ 99 ซึ่งตรงกับสายพันธุ์ที่ผลิตเป็นวัคซีนที่ประเทศไทยได้สั่งจองจำนวน 2 ล้านโด๊ส จึงมั่นใจว่าจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้แน่นอนขอให้ประชาชนมั่นใจได้
ขณะนี้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2009 ที่ใช้อยู่ทั่วโลก มี 2 ชนิด คือชนิดเชื้อตาย และเชื้อเป็นที่ถูกทำให้อ่อนฤทธิ์ โดยวัคซีนที่ประเทศไทยจะนำเข้ามานั้นเป็นเชื้อชนิดตาย ให้ได้กับทุกกลุ่มอายุ ตั้งแต่อายุ 2-6 เดือนขึ้นไป ในประเด็นความปลอดภัยนั้น องค์การอนามัยโลกได้ยืนยันว่า วัคซีนดังกล่าว ได้ผ่านขบวนการควบคุมคุณภาพอย่างเคร่งครัดมาตรฐานเดียวกันกับการผลิตวัคซีนในภาวะปกติ วัคซีนที่ไทยจะได้รับ จึงเป็นวัคซีนชนิดเดียวกับประเทศที่พัฒนาแล้วสั่งจองกันทั่วโลก ซึ่งประเทศเหล่านั้นจะได้รับและใช้ก่อนประเทศไทย จึงไม่ต้องวิตกกังวลเรื่องความปลอดภัย โดยวัคซีนดังกล่าวจะเริ่มนำเข้า 1 ล้านโด๊สแรกในเดือนธันวาคม 2552 และส่วนที่เหลือจะส่งถึงไทยในเดือนมกราคม 2553 สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับวัคซีนก่อน คือบุคลากรทางการแพทย์ที่สัมผัสผู้ป่วยโดยตรง เช่นที่แผนกผู้ป่วยนอก ห้องฉุกเฉิน หอผู้ป่วยอายุรกรรมและไอซียู หญิงตั้งครรภ์ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวในตอนท้าย
******************************* 23 กันยายน 2552
View 11
23/09/2552
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ