สาธารณสุขเผยผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการของแรงงานไทย ที่เสียชีวิตหลังเดินทางกลับจากประเทศ แอฟริกาใต้ เป็นเชื้อไข้กาฬหลังแอ่นชนิดดับเบิลยู 135 ไม่ใช่เชื้อใหม่ ในประเทศไทยพบได้แต่น้อยมาก ประชาชนไทยอย่าตกใจเพราะมีวัคซีนป้องกัน เผยผลการเฝ้าระวัง มีผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้เสียชีวิตมีอาการป่วยเล็กน้อย 4 ราย อยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอย่างใกล้ชิด
วันนี้ (22 กันยายน 2552) นายแพทย์หม่อมหลวงสมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ถึงผลการตรวจตัวอย่างเลือดและเสมหะของแรงงานไทยวัย 24 ปี ที่เสียชีวิตจากโรคไข้กาฬหลังแอ่น เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2552 หลังเดินทางกลับจากประเทศแอฟริกาใต้ พบว่า เป็นเชื้อไนซีเรีย มินิงไจติดิส สายพันธุ์ ดับเบิลยู 135 (Neisseria meningitidis serogroup W-135) ไม่ใช่เชื้อชนิดใหม่ ในไทยพบได้แต่น้อยมาก ประชาชนไทยไม่ต้องตกใจ โดยตั้งแต่เดือนมกราคม 2552 จนถึงปัจจุบัน พบผู้ป่วยไข้กาฬหลังแอ่นที่ติดเชื้อชนิดดับเบิลยู 135 เพียงรายเดียวเท่านั้น ยังไม่มีการระบาดในประเทศไทย โดยเชื้อสายพันธุ์นี้มีวัคซีนป้องกันอยู่แล้ว หลังจากที่มีผู้เสียชีวิตดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุขได้ควบคุมการแพร่ระบาดของโรคอย่างเข้มงวด โดยติดตามในกลุ่มที่ได้สัมผัสกับผู้เสียชีวิตทุกราย ได้แก่ บุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแล 30 ราย และผู้ที่เดินทางมาพร้อมกับผู้เสียชีวิต ซึ่งมีทั้งหมด 17 ราย แพทย์ได้ให้กินยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันและเฝ้าระวังอาการเป็นเวลา 3-5 วัน
นายแพทย์หม่อมหลวงสมชาย กล่าวต่อว่า ผลการติดตามอาการป่วยผู้สัมผัสในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์เป็นวันที่ 4 ขณะนี้ทุกรายสบายดี ส่วนผู้ที่เดินทางมาพร้อมผู้เสียชีวิต พบ 4รายมีไข้เล็กน้อย ที่เหลือยังไม่มีอาการเจ็บป่วย และอยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ทั้งนี้ โรคไข้กาฬหลังแอ่นเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ ไนซีเรีย มินิงไจติดิส (Neisseria meningitidis) เป็นสาเหตุทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อหุ้มสมองและไขสันหลัง ซึ่งเชื้อที่ก่อโรคมีทั้งหมด 13 สายพันธุ์ แต่พบมาก 5 สายพันธ์ ได้แก่ เอ,บี,ซี,วาย และดับเบิลยู-135 (A, B, C, Y และ W-135) โดยเชื้อนี้พบได้ในลำคอของคนปกติประมาณร้อยละ 5 แต่ไม่ทำให้เกิดโรค มีผู้ติดเชื้อส่วนน้อยเท่านั้นที่จะเกิดอาการ
โรคนี้สามารถป้องกันได้ ด้วยการปฏิบัติตัวให้แข็งแรงสมบูรณ์ โดยออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการทำงานหักโหมติดต่อกันเป็นเวลานาน และหลีกเลี่ยงความเครียด ซึ่งจะทำให้ร่างกายอ่อนแอและภูมิต้านทานโรคต่ำ หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยหรือผู้เป็นพาหะ ไม่ควรเข้าไปอยู่ในที่แออัด ผู้คนหนาแน่น อากาศถ่ายเทไม่สะดวกเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้มีโอกาสรับเชื้อจากผู้ที่เป็นพาหะได้ง่าย อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุข ขอแนะนำให้ประชาชนไทยและผู้ใช้แรงงาน ที่จะเดินทางไปประเทศที่พบรายงานการระบาด หรือในแถบแอฟริกากลาง หรือประเทศที่มีการชุมนุมคนแออัด เช่น การไปร่วมพิธีฮัจญ์ ให้ฉีดวัคซีนก่อนออกเดินทางไม่น้อยกว่า 10 วัน โดยวัคซีนที่ประเทศไทยใช้เป็นชนิดป้องกันเชื้อได้ 4 ตัว คือ เอ,ซี,วาย และดับเบิลยู-135 หลังฉีดร่างกายจะมีภูมิคุ้มกันโรคได้ 3 ปี
**********************************22 กันยายน 2552
View 21
22/09/2552
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ