กระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวพบแรงงานไทย 1 ราย เสียชีวิตจากโรคไข้กาฬหลังแอ่นชนิดรุนแรง หลังเดินทางกลับจากประเทศอาฟริกาใต้ ไม่มีประวัติการฉีดวัคซีนก่อนเดินทาง พร้อมจัดทีมเฝ้าระวังผู้สัมผัสอีก 17 ราย รวมทั้งบุคลากรการแพทย์ 30 คน เตือนคนไทยและผู้ใช้แรงงานทุกรายฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่นก่อนเดินทางเข้าพื้นที่ที่มี่การระบาด โดยไทยพบโรคนี้ไม่มากปีละประมาณ 50 ราย เสียชีวิตปีละ 1 ราย ชี้โรคนี้รักษาได้ หากพบแพทย์เร็วหลังมีอาการ วันนี้(18กันยายน 2552)ที่สถาบันบำราศนราดูร จ.นนทบุรี นายแพทย์หม่อมหลวงสมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วยนายแพทย์ปรีชา ตันธนาธิป ผู้อำนวยการสถาบันบำราศนราดูร นายแพทย์ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อทั่วไป และแพทย์หญิงจริยา แสงสัจจา รองผู้อำนวยการสถาบันบำราศนราดูร แถลงข่าวเกี่ยวกับการเสียชีวิตของแรงงานไทย หลังเดินทางกลับจากประเทศอาฟริกาใต้ นายแพทย์หม่อมหลวงสมชายชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2552 กระทรวงสาธารณสุขได้ตรวจพบชายไทยอายุ 24 ปี มีอาชีพเป็นช่างเชื่อมโลหะ เดินทางไปทำงานที่ประเทศอาฟริกาใต้ใกล้เมืองโจฮันเนสเบิร์ก เป็นเวลา 1 เดือน และเดินทางออกจากประเทศอาฟริกาเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2552 ด้วยสายการบินเคนยา เที่ยวบินที่ KQ 886 ก่อนเดินทางกลับมีอาการไม่สบายอยู่ 3 วัน มีอาการไข้ มีผื่นขึ้นที่ตามลำตัว และเดินทางถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2552 เวลา 12.00 น. แพทย์ประจำด่านควบคุมโรคติดต่อ กรมควบคุมโรค ที่สุวรรณภูมิ ได้ทำการตรวจคัดกรองผู้โดยสารขาเข้าตามระบบ พบผู้ป่วยดังกล่าวมีอาการไม่สบายมาก จึงได้รับตัวส่งเข้ารักษาที่โรงพยาบาลราชวิถี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรงพยาบาลราชวิถีวินิจฉัยว่าอาจจะเป็นโรคติดต่อที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ หลังจากให้การรักษาเบื้องต้นจึงส่งต่อผู้ป่วยมายัง สถาบันบำราศนราดูร เวลา 15.00 น. วันเดียวกัน ในการดูแลดังกล่าว แพทย์ได้นำตัวเข้าห้องแยกโรค และตรวจอาการพบมีอาการช็อก กระสับกระส่าย วัดสัญญาณชีพไม่ได้ และมีอาการท้องอืด อาเจียนเป็นเลือดเก่าสีคล้ำ คล้ายน้ำโค๊ก ตามผิวหนังทั่วตัวและใบหน้ามีจ้ำเลือด และเลือดออกในตาขาว ทั้ง 2 ข้าง ร่วมกับมีอาการไตวาย ผลการตรวจเลือดพบมีปริมาณเม็ดเลือดขาวสูงถึง 39,000 เซลล์ต่อลูกบาศก์ซีซี(คนปกติมีระหว่าง 5,000-10,000 เซลล์ต่อลูกบาศก์ซีซี) ผลเอ็กซเรย์ปอด พบลักษณะคล้ายปอดบวมที่บริเวณด้านล่างปอดทั้ง 2 ข้าง หรืออาจเกิดจากมีเลือดออกในปอด แพทย์พยายามช่วยชีวิตเต็มที่ แต่เนื่องจากมีอาการหนักมาก ได้เสียชีวิตเมื่อเวลา 06.53 น. ในวันที่ 19 กันยายน 2552 จากการซักประวัติพบว่าไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้มาก่อน แพทย์ได้ส่งตัวอย่างเลือดและเสมหะของผู้เสียชีวิตตรวจ เพาะเชื้อแบคทีเรียที่สถาบันบำราศและส่งตรวจหาเชื้อไวรัสที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2552 ระหว่างรอผลแลปได้ประสานงานกับองค์การอนามัยโลก และศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐ เพื่อเตรียมพร้อมในการตรวจวินิจฉัยเชื้อในขั้นสูงให้ชัดเจนยิ่งขึ้น แต่ปรากฏว่าผลทางห้องปฏิบัติการบ่งชี้ว่าเป็นเชื้อไข้กาฬหลังแอ่น ซึ่งมีหลายสายพันธุ์ จึงได้ส่งตรวจหาชนิดของสายพันธุ์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ คาดว่าจะทราบผลอย่างเร็วในเย็นวันนี้ หรือพรุ่งนี้เช้า สำหรับโรคไข้กาฬหลังแอ่น(Severe Meningococcal Infection) เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียเฉียบพลัน มีอาการปรากฏได้ 2 ลักษณะ คือ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ จะเกิดอาการทางระบบประสาท เช่น คอแข็ง อาเจียน ซึม มีอัตราตายร้อยละ 5 อีกลักษณะหนึ่งคือ อาการติดเชื้อในกระแสเลือดอย่างรุนแรง อวัยวะภายในมีเลือดออก มีจ้ำเลือดตามตัว ลักษณะนี้จะรุนแรงมาก จะเสียชีวิตได้ภายใน 1-2 วัน จากอาการช็อก มีอัตราตายร้อยละ 30-50 ซึ่งผู้เสียชีวิตรายนี้เป็นการติดเชื้อในกระแสเลือดอย่างรุนแรง ซึ่งในไทยมีรายงานปีละประมาณ 50 ราย โรคดังกล่าว มียาปฏิชีวนะรักษาหายได้หากได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่ระยะแรก ในช่วง 8 เดือนปี 52 นี้พบป่วย 34 ราย ส่วนใหญ่เป็นวัยผู้ใหญ่ เสียชีวิต 1 รายที่แม่ฮ่องสอน ทั้งนี้ โรคไข้กาฬหลังแอ่น เป็นโรคที่พบได้ทั่วโลก แต่พบมากที่อาฟริกาแถบตอนกลาง เช่น เอธิโอเปีย ซูดาน ติดต่อกันโดยการสัมผัสละอองน้ำมูกน้ำลาย เสมหะของผู้ป่วย อาการจะมีไข้สูงทันที ปวดศีรษะมาก เจ็บคอ คอแข็ง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ มักมีผื่นเลือดออกใต้ผิวหนังร่วมกับจ้ำเลือดขึ้นตามแขนขา ในรายที่รุนแรงจะซึมและช็อก เสียชีวิตภายใน 24 ชั่วโมง หลังมีอาการ ในการป้องกันโรค ผู้ที่จะเดินทางไปในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคนี้ จะต้องฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่น ก่อนเดินทาง 2 สัปดาห์ และไม่ควรเข้าไปอยู่ที่ที่มีผู้คนหนาแน่น แออัด สำหรับการควบคุมป้องกันโรคหลังพบผู้ป่วยโรคไข้กาฬหลังแอ่นที่เดินทางมากับเครื่องบิน กระทรวงสาธารณสุขได้ประสานกับสายการบินเคนย่า เพื่อติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้เสียชีวิต มีจำนวนผู้โดยสารที่ลงที่สนามบินสุวรรณภูมิ 50 คน โดยมีผู้ที่นั่งใกล้ผู้เสียชีวิตทั้งแถวหน้าและหลัง 17 คน ตามตัวได้ทุกราย ได้ให้หน่วยสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในภูมิลำเนาที่กลับบ้าน ได้แก่ สุโขทัย พิษณุโลก กำแพงเพชร เฝ้าระวังติดตามอาการต่อไปอีก 3- 5 วัน โดยมี 5 รายที่ใกล้ชิดมาก และสัมผัสผู้ป่วยตลอดการเดินทาง ได้รับไว้ดูอาการที่สถาบันบำราศนราดูร และให้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันแล้ว รวมทั้งผู้สัมผัสที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์ทั้งที่สนามบินสุวรรณภูมิ โรงพยาบาลราชวิถี สถาบันบำราศนราดูร ประมาณ 30 คน และจะเฝ้าดูอาการต่อไป 3-5 วัน ขณะนี้ทุกรายปกติ อย่างไรก็ตามกระทรวงสาธารณสุข ขอแนะนำให้ประชาชนไทย และผู้ใช้แรงงานที่จะไปทำงานที่ประเทศที่มีรายงานการระบาดโรคไข้กาฬหลังแอ่น ให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคได้ที่สถาบันบำราศนราดูร ก่อนเดินทาง 2 สัปดาห์ แม้ว่าประเทศปลายทางจะไม่มีข้อบังคับก็ตาม วัคซีนมีผลป้องกันได้ 2-3 ปี และรักษาสุขภาพให้แข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ


   
   


View 14    19/09/2552   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ