กระทรวงสาธารณสุข ออกคำแนะนำการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ในรถโดยสารสาธารณะทุกชนิด เพื่อเป็นข้อปฏิบัติรับมือการเดินทางในช่วงปิดเทอมและเทศกาลสำคัญในช่วง 2 เดือนข้างหน้า ป้องกันไม่ให้โรคแพร่ระบาด
นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ในช่วง 2 เดือนหน้า คือ ตุลาคมและพฤศจิกายน เป็นช่วงปิดภาคเรียนและมีเทศกาลงานบุญสำคัญ เช่น ทอดกฐิน แข่งเรือ ลอยกระทง ซึ่งจะมีกลุ่มคนเดินทางไปร่วมกิจกรรมจำนวนมาก ขณะเดินทางอาจติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 ได้ เพื่อสร้างความปลอดภัยจากโรคดังกล่าวให้แก่ประชาชนที่เดินทาง รวมทั้งพนักงานประจำรถโดยสารสาธารณะทุกชนิด กระทรวงสาธารณสุขได้ออกคำแนะนำการป้องกันการแพร่เชื้อจากผู้ป่วยที่มีอาการไอจาม การทำความสะอาดเพื่อกำจัดเชื้อไข้หวัดใหญ่จากฝอยละอองน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ ที่อาจปนเปื้อนอยู่ตามจุดที่มีผู้สัมผัสมาก โดยขอความร่วมมือผู้ประกอบการ ผู้ดูแลรถโดยสารสาธารณะให้หมั่นทำความสะอาดราวจับในรถโดยสาร ที่จับบริเวณประตู เบาะที่นั่ง โดยใช้น้ำยาทำความสะอาดทั่วไป หรือน้ำผสมผงซักฟอก และในเวลาหยุดพัก ควรเปิดม่านให้แสงแดดส่องเข้ามาได้ และเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก
นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวว่า หากผู้ขับขี่และพนักงานประจำรถโดยสารสาธารณะ มีอาการป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่ เช่น มีไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามร่างกาย อ่อนเพลีย ขอให้ลาหยุดงาน และพักรักษาตัวที่บ้านประมาณ 7 วัน เพื่อให้พ้นระยะการแพร่เชื้อ หากหายป่วยเร็วกว่านี้ จะต้องรอจนกว่าจะหายเป็นปกติไปแล้ว 24 ชั่วโมง จึงกลับมาทำงาน แต่หากภายใน 2 วัน อาการยังไม่ดีขึ้น เช่น กินยาลดไข้แล้วแต่ยังมีไข้สูง กินอาหารไม่ได้ ไอมาก เจ็บหน้าอก อาเจียนมาก ท้องเสีย หายใจเหนื่อย หอบ ขอให้สวมหน้ากากอนามัย และไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทันที สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดโรคแทรกซ้อนรุนแรง ได้แก่ ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคปอด หัวใจ ไต เบาหวาน สตรีมีครรภ์ โรคอ้วน ผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ เช่น โรคมะเร็ง เอดส์ เด็กเล็กอายุน้อยกว่า 2 ปี ผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี หากเริ่มมีอาการไข้หวัดใหญ่ ให้รีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทันที
ทั้งนี้ ต้องขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการเตรียมอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อสำหรับบริการผู้โดยสาร เช่น หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์สำหรับทำความสะอาดมือ กระดาษทิชชู รวมทั้งถังขยะที่มีฝาปิดไว้ประจำรถโดยสาร โดยจัดวางไว้ในจุดที่หยิบใช้ได้สะดวก และในกรณีที่มีผู้โดยสารที่มีอาการไอจามเล็กน้อยไปใช้บริการ ไม่ควรปฏิเสธผู้โดยสาร แต่ควรให้คำแนะนำแก่ผู้โดยสาร เช่น ให้สวมหน้ากากอนามัย หรือใช้กระดาษทิชชูปิดปากปิดจมูก และทำความสะอาดมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ เพื่อฆ่าเชื้อโรคที่ติดมากับมือ
นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของผู้ขับขี่และพนักงานประจำรถโดยสารสาธารณะ ซึ่งขณะปฏิบัติงาน ต้องใกล้ชิดกับผู้โดยสารจำนวนมาก ควรสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการติดเชื้อ สำหรับผู้ขับขี่รถแท็กซี่ หากไม่มีผู้โดยสาร หรือผู้โดยสารไม่มีอาการเป็นไข้หวัด ก็ไม่จำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัย ควรล้างทำความสะอาดมือด้วยเจลแอลกอฮอล์หรือน้ำสบู่บ่อยๆ และควรฝึกนิสัยไม่ใช้มือแคะจมูก จับปาก ขยี้ตา หากยังไม่ได้ทำความสะอาดมือก่อน โดยผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะที่สนใจ สามารถเปิดอ่านรายละเอียดคำแนะนำได้ที่เว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข www.moph.go.th ตลอด 24 ชั่วโมง
************************* 17 กันยายน 2552
View 11
17/09/2552
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ