สาธารณสุขจับมือมหาวิทยาลัยมหิดล เพิ่มโรงพยาบาลในการเรียนภาคปฏิบัติของนิสิตแพทย์ปีที่ 4-6 จาก 4 แห่ง เป็น 6 แห่ง ผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบทเพิ่มได้อีกปีละ 12 คน เริ่มปีการศึกษา 2554 ชี้ตั้งแต่ พ.ศ. 2553 เป็นต้นไป ไทยจะสามารถผลิตแพทย์ได้จากปีละกว่า 1,000 คน เป็นปีละกว่า 2,000 คน ตั้งเป้าภายในปี 2562 คนไทยจะมีแพทย์ดูแลในอัตราเฉลี่ย แพทย์ 1 คนต่อประชาชน 1,500 คน เท่ามาตรฐานสากล วันนี้ (15 กันยายน 2552) ที่มหาวิทยาลัยมหิดล จ.นครปฐม นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย ศ.คลินิก นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการเพิ่มโรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา จังหวัดกาญจนบุรี และโรงพยาบาลหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลทั่วไปของกระทรวงสาธารณสุข ให้เป็นสถาบันสมทบจัดการเรียนการสอนนักศึกษาแพทย์ภาคปฏิบัติชั้นปีที่ 4-6 ในโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท ระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุข นพ.ปราชญ์ กล่าวว่า จากข้อมูลล่าสุดในปี 2552 พบทั่วประเทศมีแพทย์ทำงานในโรงพยาบาลภาครัฐและเอกชนประมาณ 30,000 คน เฉลี่ยแพทย์ 1 คนดูแลประชาชน 2,200 คน ซึ่งน้อยกว่ามาตรฐานสากล ที่แพทย์ 1 คน ดูแลประชาชน 1,500 คน กระทรวงสาธารณสุขจึงได้เร่งเดินหน้าผลิตแพทย์เติมเต็มระบบบริการสุขภาพอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบทอีก 2 โครงการ คือ โครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท พ.ศ. 2547-2556 มีเป้าหมายผลิต 3,807 คน และโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐด้านการแพทย์และสาธารณสุข ตามแผนการพัฒนากำลังคนด้านสาธารณสุข พ.ศ.2549-2556 เป้าหมายผลิต 3,505 คน ใช้งบปีละ 1,500 ล้านบาท รวมทั้งหมด 12,000 ล้านบาท ทั้ง 2 โครงการนี้จะผลิตแพทย์ได้ปีละ 1,024 คน โดยตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นไป ประเทศไทยจะสามารถผลิตแพทย์จากปีละ 1,200 คนเป็น ได้ปีละ 2,024 คน คาดว่าภายในปี 2562 อัตราส่วนแพทย์ต่อประชาชนของไทยจะเท่ากับมาตรฐานสากล คือ 1 ต่อ 1,500 คน ประชาชนจะได้รับบริการดีขึ้น ด้านนพ.สุวัฒน์ เลิศสุขประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมจัดการเรียนการสอนแพทย์ในโครงการผลิตแพทย์เพิ่มฯ ของมหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่ปี 2542 ในช่วง 3 ปีแรกจะเรียนภาคทฤษฎีที่คณะแพทยศาสตร์ ส่วนปีที่ 4-6 เรียนภาคปฏิบัติที่ รพ.ราชบุรี รพ.มหาราชนครราชสีมา รพ.มหาราชนครศรีธรรมราช รพ.สวรรค์ประชารักษ์ โดยแต่ละปีมหาวิทยาลัยมหิดลสามารถผลิตแพทย์ได้ 152 คน การเพิ่ม รพ.พหลพลพยุหเสนา และรพ.หัวหิน เป็นสถาบันสมทบอีก 2 แห่งนี้ จะทำให้สามารถผลิตแพทย์ชนบทเพิ่มได้อีกปีละ 12 คน ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ปีการศึกษา 2554 เป็นต้นไป นพ.สุวัฒน์ กล่าวต่อว่า โครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบทนั้น มีความพิเศษ 2 ด้านคือ แพทย์ผู้เรียนเป็นผู้ที่มีภูมิลำเนาในจังหวัดที่รับทุนเรียน ส่วนสถานที่ฝึกปฏิบัติใน 3 ปีสุดท้าย ใช้โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป ซึ่งมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทุกสาขาและมีผู้ป่วยจำนวนมาก ทำให้นักศึกษาแพทย์มีประสบการณ์หลากหลาย เมื่อสำเร็จการศึกษาและไปทำงานชดใช้ทุน จะมีความคุ้นเคยกับการดูแลรักษาผู้ป่วยเป็นอย่างดี ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขมีโรงพยาบาลที่มีศักยภาพ เป็นสถาบันสมทบร่วมผลิตแพทย์ในโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบทในชั้นปีที่ 4-6 ซึ่งเป็นการเรียนในภาคปฏิบัติกับผู้ป่วยจริง 8 มหาวิทยาลัย รวม 34 แห่งกระจายทุกภูมิภาคตามภูมิลำเนาของนักศึกษาแพทย์ *****************************15 กันยายน 2552


   
   


View 19    15/09/2552   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ