กระทรวงสาธารณสุข จัดประชุมวิชาการการฝังเข็มร่วมกับประเทศเจ้าของตำรับ เพื่อพัฒนาศาสตร์การแพทย์แผนจีนในประเทศไทยให้ได้มาตรฐานเทียบเท่าต้นตำรับ จัดบริการร่วมกับการรักษาแผนปัจจุบัน โดยเฉพาะโรคเรื้อรัง ขณะนี้มีโรงพยาบาลของรัฐใน 50 จังหวัดเปิดให้บริการรักษาด้วยการฝังเข็มได้แล้ว และออกกฎหมายควบคุมมาตรฐานการแพทย์แผนจีนประกอบด้วย การนวดแผนจีน การฝังเข็ม และการจับชีพจรและรักษาด้วยสมุนไพรหรือหมอแมะ เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชน เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 ตุลาคม 2552 เป็นต้นไป วันนี้ (7 กันยายน 2552) ที่โรงแรมนารายณ์ กทม. นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดประชุมวิชาการการแพทย์ไทย-จีน ครั้งที่ 3 จัดโดยกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข และสำนักสาธารณสุขเทศบาลนครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อสนับสนุนความก้าวหน้าทางด้านการแพทย์แผนดั้งเดิม ในปีนี้เน้นเรื่อง การรักษาโรคที่เป็นปัญหาสาธารณสุขด้วยศาสตร์การฝังเข็ม โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากประเทศจีนนำเสนอผลงานวิจัย 3 เรื่อง เช่น การพัฒนาการฝังเข็มรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โดยนพ. ชุย ฮวาซุ่น โรงพยาบาลสู่กวง (Dr. Huashun Cui, Shu Guang Hospital) นครเซี่ยงไฮ้ และไทย 8 เรื่อง เช่น การศึกษาผลการรักษาริ้วรอยบนใบหน้าด้วยวิธีฝังเข็ม โดยรศ.พญ.วัณณศรี สินธุภัค จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การศึกษาประสิทธิผลของการรักษาฝ้าด้วยวิธีการฝังเข็มเทียบกับการใช้ยาไฮโดรควิโนน 3% โดยพญ.สายชลี ทาบโลกา มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โดยมีนักวิชาการสาธารณสุข แพทย์ที่ให้บริการด้านการฝังเข็มจากโรงพยาบาลภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ และแพทย์จีนที่ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพชั่วคราวในประเทศไทย เข้าร่วมประชุมประมาณ 400 คน นายมานิตกล่าวว่า ปัจจุบันกระแสของระบบการแพทย์ทางเลือก กำลังเป็นที่นิยมของประชาชนทั่วโลก โดยประชาชนร้อยละ 70-80 ในประเทศที่พัฒนาแล้วนิยมใช้การแพทย์ทางเลือก โดยเฉพาะการฝังเข็ม ซึ่งใช้ในจีนมากว่า 2,000 ปี เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกว่าสามารถนำมารักษาโรคต่าง ๆ จำนวนมาก องค์การอนามัยโลกให้การยอมรับศาสตร์การฝังเข็มว่าสามารถใช้รักษาโรคต่างๆที่มีผลงานวิจัยรองรับ 28 โรค เช่น อาการปวดเข่า ปวดหลัง ปวดต้นคอ ปวดข้อ ไมเกรน ภาวะซึมเศร้า โรคหลอดเลือดสมอง และกำลังทำการศึกษาวิจัยการใช้การฝังเข็มรักษาโรคอื่นๆเพิ่มอีกเกือบ 100 โรค เช่น การรักษาสิว อาการปวดจากมะเร็ง โรคนิ่วในถุงน้ำดี การมีบุตรยากในสตรี โรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศในชาย โรคเก้าท์ โรคไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน การติดบุหรี่ ติดยาเสพติด โรคต่อมลูกหมากเรื้อรัง เป็นต้น ซึ่งหากสำเร็จจะเป็นประโยชน์ในการแก้ปัญหาการเจ็บป่วยของประชาชนได้มาก กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายสนับสนุนการฝังเข็มมาใช้ร่วมกับการรักษาแผนปัจจุบัน เนื่องจากต้นทุนในการรักษาต่ำ ใช้เพียงเข็มและอุปกรณ์อื่นอีกเล็กน้อย สะดวก รักษาได้ทุกที่ และช่วยลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศ ขณะนี้มีโรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนเปิดให้บริการฝังเข็มใน 50 จังหวัด มีแพทย์แผนปัจจุบันผ่านการอบรมรวมหลักสูตรการฝังเข็ม 3 เดือน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขไทยกับมหาวิทยาลัยการแพทย์แผนจีนเซี่ยงไฮ้ จำนวนกว่า 1,000 คน นายมานิตกล่าวต่อว่า ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เร่งพัฒนายกระดับมาตรฐานของศาสตร์การแพทย์แผนจีน และมาตรฐานการให้บริการในสถานบริการต่าง ๆ การฝึกอบรมพัฒนาทักษะแพทย์เชี่ยวชาญชั้นสูง และควบคุมมาตรฐานบริการด้านการแพทย์แผนจีน โดยขณะนี้ได้ออกกฎหมายกำหนดให้ การแพทย์แผนจีนเป็นสาขาการประกอบโรคศิลปะสาขาที่ 9 ตามพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2542 ซึ่งประกอบด้วยการนวดแผนจีน การฝังเข็มและการจับชีพจรและรักษาด้วยสมุนไพรหรือที่รู้จักกันว่าหมอแมะ ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2552 และจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 ตุลาคม 2552 เป็นต้นไป ผู้ที่ประกอบวิชาชีพทุกคนจะต้องมีความรู้และสอบใบประกอบโรคศิลปะตามหลักเกณฑ์ ซึ่งจะทำให้ประชาชนไทยมีทางเลือกในการดูแลรักษาฟื้นฟูสุขภาพที่มีคุณภาพมาตรฐานและปลอดภัย ด้านนายแพทย์นรา นาควัฒนานุกูล อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ศาสตร์การแพทย์แผนจีนมี 3 ด้าน ได้แก่ 1.การตรวจชีพจรและใช้ยาสมุนไพรจีน 2.การฝังเข็ม 3. การนวดแผนจีนเพื่อรักษา จากการสำรวจความพึงพอใจที่หน่วยฝังเข็มของโรงพยาบาล ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ พบว่า ผู้มารับบริการมีความพึงพอใจมาก และกำลังจัดทำฐานข้อมูลผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนจีน ฐานข้อมูลสถานพยาบาลให้บริการฝังเข็ม พร้อมชื่อแพทย์ผู้ให้บริการ และการจัดหลักสูตรฝึกอบรม มหาวิทยาลัยที่จัดการเรียนการสอน ซึ่งขณะนี้มีมหาวิทยาลัยที่เปิดคณะการแพทย์แผนจีนหลักสูตร 5 ปี 2 แห่ง คือ ม.หัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติฯ ม.ราชภัฏจันทรเกษม และที่กำลังจะเปิดที่ม.ราชภัฎเชียงราย และม.เทคโนโลยีสุรนารี เพื่อให้ข้อมูลแก่ประชาชนที่สนใจ เผยแพร่ทางเวปไซต์ของกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ในต้นปี 2553


   
   


View 16    07/09/2552   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ