สาธารณสุข กำชับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและอาสาสมัครสาธารณสุขทั่วประเทศ เฝ้าระวังโรคฉี่หนูอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นฤดูกาลระบาด รอบเกือบ 8 เดือนปีนี้ ทั่วประเทศพบผู้ป่วยแล้วเกือบ 2,000 ราย เสียชีวิต 16 ราย เตือนผู้ที่มีแผลที่ขาหรือเท้า หลีกเลี่ยงเดินลุยน้ำ ส่วนผักสดที่เก็บจากทุ่งนา ก่อนกินต้องล้างน้ำให้สะอาด
นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีฝนตกชุก โรคที่พบได้บ่อยในฤดูกาลนี้คือ โรคเลปโตสไปโรซีส (Leptospirosis) หรือที่ชาวบ้านเรียกโรคฉี่หนู รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั่วประเทศและอาสาสมัครสาธารณสุข ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรู้วิธีการป้องกันตัว พร้อมทั้งเฝ้าระวังการเจ็บป่วย หากมีรายงานผู้ป่วย ให้ส่งทีมลงไปสอบสวนโรค เพื่อทำการควบคุมโรคได้อย่างทันท่วงที
นายแพทย์สุพรรณ กล่าวต่อว่า โดยทั่วไปโรคฉี่หนูพบผู้ป่วยได้ประปรายตลอดปี แต่จะพบมากในช่วงเดือนพฤษภาคม-ตุลาคมของทุกปี ในปี 2552 นี้ ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงกลางเดือนสิงหาคม ทั่วประเทศพบผู้ป่วย 1,835 ราย เสียชีวิต 16 ราย มากที่สุดที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1,180 ราย เสียชีวิต 7 ราย โดย จ.กาฬสินธุ์ พบผู้ป่วยมากที่สุด 145 ราย ภาคใต้ป่วย 376 ราย เสียชีวิต 3 ราย พบผู้ป่วยมากที่สุดที่ จ.ระนอง 69 ราย ภาคเหนือป่วย 197ราย เสียชีวิต 4 ราย ผู้ป่วยมากที่สุดที่ จ.น่าน 32 ราย และภาคกลางป่วย 82 ราย เสียชีวิต 2 ราย พบผู้ป่วยมากที่สุดที่ จ.จันทบุรี 20 ราย โดยตลอดปี 2551 พบผู้ป่วย 4,210 ราย เสียชีวิต 73 ราย
ทางด้านนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อทั่วไป กล่าวว่า สาเหตุของโรคฉี่หนู เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในปัสสาวะของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น หนู วัว ควาย โดยเชื้อจะปนเปื้อนอยู่ตามน้ำที่ขังเฉอะแฉะตามพื้นดินที่เปียกชื้น หรือปนเปื้อนพืชผักที่ขึ้นตามทุ่งนา เชื้อสามารถไชเข้าสู่ร่างกายทางรอยแผลตามผิวหนัง รอยขีดข่วน และเข้าทางเยื่อบุของปาก ตา จมูก หรือไชผ่านผิวหนังปกติที่แช่น้ำอยู่นานๆ ก็ได้ โดยคนมักติดเชื้อขณะเดินย่ำดินโคลน เดินลุยน้ำท่วม หรือจากการกินอาหารหรือน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อนอยู่ ซึ่งเชื้อโรคฉี่หนูนี้มีชีวิตอยู่ในน้ำได้นานหลายเดือน ประชาชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อโรคนี้ได้แก่ ผู้ที่อยู่ในวัยทำงาน มีอาชีพทำไร่ทำนา
นายแพทย์โอภาส กล่าวต่อว่า อาการสำคัญของโรคนี้คือ มีไข้สูง ปวดศีรษะ และปวดกล้ามเนื้อมาก โดยเฉพาะบริเวณน่องและโคนขา บางรายมีอาการตาแดงร่วมด้วย ส่วนใหญ่จะป่วยหลังได้รับเชื้อประมาณ 4-10 วัน หากมีอาการดังกล่าว ขอให้รีบพบแพทย์เป็นการด่วน พร้อมทั้งแจ้งประวัติการทำงานหรือประกอบอาชีพที่ต้องอยู่ในน้ำหรือลุยน้ำย่ำโคลน ให้แพทย์ทราบด้วย ซึ่งโรคนี้มียารักษาหายขาด อย่าปล่อยไว้จนเรื้อรัง เนื่องจากจะเกิดโรคแทรกซ้อนรุนแรง คือ ไตวาย ตับวาย ทำให้เสียชีวิตได้ โดยมีอัตราเสียชีวิตร้อยละ 15-40
ในการป้องกันไม่ให้ป่วยเป็นโรคฉี่หนู ประชาชนควรสวมรองเท้าบู๊ททุกครั้ง หลีกเลี่ยงการแช่น้ำ เดินลุยน้ำนานๆ ไม่ลงว่ายน้ำขณะที่มีน้ำท่วมขัง โดยเฉพาะผู้ที่มีบาดแผลหรือรอยถลอก รอยขีดข่วน หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรปิดพลาสเตอร์ที่แผลก่อนลงน้ำและรีบล้างเท้าให้สะอาดและเช็ดให้แห้ง ส่วนผักสดที่เก็บมาจากทุ่งนา ต้องล้างให้สะอาดก่อนกิน หากบริโภคน้ำบ่อน้ำตื้น ควรต้มให้เดือดก่อนเพื่อฆ่าเชื้อโรค ดูแลบ้านเรือนให้สะอาด กำจัดขยะ ไม่ให้เป็นที่อยู่และแหล่งอาหารของหนู ควรเก็บอาหารไว้ในที่มิดชิด อาหารที่ค้างมื้อ จะต้องนำมาอุ่นให้ร้อนก่อนกิน และล้างมือทุกครั้งก่อนกินอาหาร
**************************************30 สิงหาคม 2552
View 14
30/08/2552
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ