คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ เตรียมออกกฎหมายลูกอีก 4 ฉบับ ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รอบสถานศึกษา ให้แสดงข้อความคำเตือนประกอบภาพสัญลักษณ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือบริษัทผู้ผลิต มอบหมายผู้มีอำนาจเปรียบเทียบ และกำหนดหลักเกณฑ์การเปรียบเทียบปรับในความผิดแต่ละมาตรา ปราบผู้กระทำผิดซ้ำซาก โดยความผิดฐานโฆษณามีโทษสูงสุด คือจำคุก 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท และปรับอีกวันละไม่เกิน 50,000 บาท จนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง
บ่ายวันนี้ (18 สิงหาคม 2552) ที่กระทรวงสาธารณสุข นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ครั้งที่ 2/2552 ว่า ในวันนี้ได้มีการพิจารณาร่างกฎหมายเพื่อควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตามพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 อีก 4 ฉบับ ได้แก่ 1.คำสั่งคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เรื่องการมอบหมายให้ดำเนินการเปรียบเทียบ ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ในกทม.ได้แก่ ปลัดกทม. ผู้แทนกองบัญชาการตำรวจนครบาล และผู้อำนวยการสำนักอนามัย ในจังหวัด ได้แก่ อัยการจังหวัด ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับแต่งตั้งตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แก่ อธิบดีกรมควบคุมโรค รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และข้าราชการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สังกัดกรมควบคุมโรค ระดับชำนาญการขึ้นไป
ฉบับที่ 2 ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บริเวณรอบสถานศึกษา ตามมาตรา 27(8) ในระยะห่างไม่เกิน 500 เมตร นับจากรั้วสถานศึกษา ยกเว้นโรงแรมที่ได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายก่อนประกาศนี้ใช้บังคับ หรือสถานที่ที่ได้รับการยกเว้นหรือผ่อนผัน โดยคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กทม.หรือจังหวัด พิจารณาร่วมกับสถานศึกษาที่อยู่ในเขต ส่วนผู้ที่ได้รับใบอนุญาตขายสุราที่อยู่ในเขตห้ามดังกล่าวก่อนประกาศนี้มีผลบังคับใช้ ให้จำหน่ายได้จนกว่าใบอนุญาตจะหมดอายุ จากนั้นต้องปฏิบัติตาม
ฉบับที่ 3 ประกาศคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้แสดงข้อความคำเตือนประกอบภาพสัญลักษณ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือภาพสัญลักษณ์ของบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.... โดยต้องมีการแสดงข้อความคำเตือนแบบเสียง อย่างใดอย่างหนึ่งได้แก่ ดื่มสุรา เป็นมะเร็งตับ ดื่มสุรา เซ็กส์เสื่อม ดื่มสุรา พิการได้ และแบบอักษรอย่างใดอย่างหนึ่งได้แก่ สุรา เป็นเหตุให้เกิดโรคมะเร็งตับ สุรา เป็นเหตุให้เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ สุรา เป็นเหตุให้ขาดสติและเสียชีวิตได้
กรณีสื่อโทรทัศน์ การฉายภาพ ภาพยนตร์ วิดิทัศน์ การแสดงภาพโดยผ่านเครื่องมือทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่ออื่นใดทำนองเดียวกัน ต้องแสดงคำเตือนทั้งภาพและเสียง โดยแบบเสียง ต้องฟังชัดเจนทุกพยางค์ เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 วินาที ส่วนข้อความอักษร ต้องเป็นอักษรลอยตัวอักษรไทย อังสะนา นิว แบบหนาหรือตัวอักษรอื่นที่มีลักษณะใกล้เคียงกันสีขาว ภายในกรอบคำเตือนพื้นสีดำเข้มและมีสีแตกต่างอย่างชัดเจนกับสีพื้นโฆษณา ความสูงอักษรไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของกรอบคำเตือน และกรอบคำเตือนเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ความสูงไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของความสูงจอภาพ และมีความยาวตลอดตามแนวนอนชิดขอบบนจอภาพ โดยแสดงข้อความคำเตือนไม่น้อยกว่า 2 วินาที
กรณีสื่อสิ่งพิมพ์ ต้องแสดงข้อความคำเตือนด้วยตัวอักษรไทย อังสะนา นิว แบบหนาหรือตัวอักษรอื่นที่มีลักษณะใกล้เคียงกันสีขาว ภายในกรอบพื้นสีดำเข้ม ที่มีสีแตกต่างอย่างชัดเจนกับสีพื้นโฆษณา ขนาดความสูงอักษร ไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของกรอบข้อความคำเตือน และกรอบคำเตือนเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ความสูงไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของพื้นที่โฆษณา และมีความยาวตลอดตามแนวนอนชิดขอบบนพื้นที่โฆษณา ส่วนสื่ออื่นๆ นอกเหนือจาก 2 สื่อนี้ ให้แสดงข้อความคำเตือนแบบข้อความอักษรในรูปแบบเดียวกัน โดยตัวอักษรมีขนาดไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของพื้นที่ข้อความคำเตือน และพื้นที่ข้อความคำเตือนมีขนาดไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของพื้นที่โฆษณา
ฉบับที่ 4 ระเบียบคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การเปรียบเทียบปรับ ผู้กระทำผิดกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 รวม 29 ฐานความผิด โดยนอกจากบทระวางโทษจำคุกแล้ว ยังได้กำหนดวงเงินค่าปรับชัดเจน แก้ปัญหาการกระทำผิดซ้ำซากของผู้ประกอบการที่มีพฤติการณ์จงใจฝ่าฝืนกฎหมาย โดยวงเงินค่าปรับจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำผิดครั้งที่ 1 ค่าปรับขั้นต่ำ 600 บาท ถึง 50,000 บาท ผิดครั้งที่ 2 ปรับเพิ่มเป็น 2 เท่า และหากผิดครั้งที่ 3 ค่าปรับจะเพิ่มกว่า 3 เท่า เช่น กรณีขายหรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่ห้ามขายหรือห้ามดื่ม ได้แก่ ในวัดหรือสถานที่ปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา สถานบริการสาธารณสุข สถานที่ราชการ หอพัก สถานศึกษา สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง สวนสาธารณะ หรือสถานที่อื่นที่รัฐมนตรีประกาศโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยผิดครั้งที่ 1 เสียค่าปรับ 3,000 บาท ครั้งที่ 2 ปรับ 6,000 บาท และครั้งที่ 3 ปรับ 10,000 บาท เป็นต้น
หากขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้แก่บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่ายี่สิบปี ขายให้คนที่มึนเมาจนครองสติไม่ได้ หรือขายโดยใช้เครื่องขายอัตโนมัติ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ การเร่ขาย การส่งเสริมการขายด้วยวิธีต่างๆ เช่น การลด แลก แจก แถม ลดราคาหรือให้สิทธิประโยชน์อื่นๆ ตอบแทนแก่ผู้ซื้อ มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับความผิดฐานโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกวันละไม่เกิน 5 หมื่นบาท จนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง ส่วนการต่อสู้หรือขัดขวางการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากไม่อำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ มีโทษปรับไม่เกิน 2 พันบาท
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายทั้ง 4 ฉบับ โดยกฎหมายลูกที่เป็นระเบียบและคำสั่งคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะเสนอให้ นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงนาม ส่วนประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะส่งให้คณะ กรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พิจารณา และเร่งเสนอให้นายกรัฐมนตรีลงนาม เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาและบังคับใช้ต่อไป
***************************************18 สิงหาคม 2552
View 12
18/08/2552
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ