กระทรวงสาธารณสุข กำหนด 6 ยุทธศาสตร์ พัฒนางานสาธารณสุขในพื้นที่ 30 จังหวัดชายแดน เพื่อให้มีระบบบริการสุขภาพขั้นพื้นฐานที่มีคุณภาพ ประชากรเข้าถึงบริการได้อย่างทั่วถึง และมีระบบเฝ้าระวังโรค เฝ้าระวังอาหาร-ยา-ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ที่มีประสิทธิภาพ ผลักดันให้งานสาธารณสุขชายแดน เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของการบริหารราชการแบบบูรณาการของจังหวัด ตั้งเป้าบรรลุผลภายในปี พ.ศ.2554 วันนี้ (6 สิงหาคม 2552) ที่โรงแรมรอยัลแม่โขง จังหวัดหนองคาย แพทย์หญิงศิริพร กัญชนะ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเปิดประชุมวิชาการและมอบนโยบายการบริหารงานสาธารณสุขชายแดน แก่นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจำนวน 300 คน ว่า ประเทศไทยมีแนวพรมแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน 4 ประเทศใน 30 จังหวัด ยาวประมาณ 5,820 กิโลเมตร กว่าร้อยละ 70 เป็นพรมแดนทางบก ที่เหลือเป็นพรมแดนชายฝั่งทะเล ปัญหาสาธารณสุขที่เกิดขึ้นตามแนวชายแดนมีความซับซ้อนและละเอียดอ่อนเชื่อมโยงกับปัจจัยหลายด้าน เนื่องจากบริเวณชายแดนมีความหลากหลายทางด้านเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ความเชื่อ วัฒนธรรม และขนบธรรมเนียมประเพณี โรคที่พบบ่อยคือ โรคมาลาเรีย วัณโรค โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โรคเอดส์ โรคอุจจาระร่วง ปัญหาสุขภาพแม่และเด็ก อัตราตายของแม่และเด็กยังสูงกว่าพื้นที่อื่นๆ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการเข้าถึงระบบบริการสาธารณสุข เนื่องจากโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าครอบคลุมเฉพาะคนที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น ส่งผลให้ชนกลุ่มน้อย กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ และแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายเข้าไม่ถึงระบบบริการสาธารณสุข รวมทั้งยังมีปัญหาการลักลอบนำเข้า-ส่งออก อาหาร ยา ผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพที่ไม่ปลอดภัย ไม่ได้มาตรฐาน และการแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่ไม่สามารถเรียกเก็บได้ปีละกว่า 100 ล้านบาท เนื่องจากประชาชนตามแนวชายแดน 3 ประเทศ คือลาว กัมพูชาและพม่า นิยมเข้ามารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของไทยปีละนับหมื่นคน ส่วนใหญ่เป็นคนยากจน แพทย์หญิงศิริพร กล่าวต่อว่า ในการแก้ไขปัญหาและพัฒนางานสาธารณสุตามแนวชายแดน กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำ 6 ยุทธศาสตร์ ระหว่าง พ.ศ. 2550-2554 ได้แก่ 1.สนับสนุนการเข้าถึงและการพัฒนาสถานบริการสาธารณสุขให้ได้มาตรฐานด้านการส่งเสริมสุขภาพ การเฝ้าระวังและควบคุมโรคติดต่อและการรักษาพยาบาล 2.การสร้างความเข้มแข็งและพัฒนางานสาธารณสุขชุมชนโดยให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วม 3.การพัฒนาสุขภาพประชากรต่างด้าวและการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพ โดยให้ทุกคนมีหลักประกันสุขภาพ 4.สนับสนุนและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคีต่างๆ ในการพัฒนางานสาธารณสุขมูลฐานชุมชนชายแดน เช่น การสร้างอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าวเพื่อดูแลสุขภาพต่างด้าวด้วยกัน 5.การบูรณาการแผนงานและการพัฒนากลไกการประสานงานสาธารณสุขชายแดน โดยผลักดันให้งานสาธารณสุขชายแดน เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของการบริหารราชการแบบบูรณาการของจังหวัด และ 6.ประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านแก้ปัญหาร่วมกันอย่างต่อเนื่องระยะยาว เพื่อให้ประชาชนพื้นที่ชายแดนมีระบบบริการสุขภาพขั้นพื้นฐานที่มีคุณภาพ ตั้งเป้าให้ประชากรเข้าถึงบริการได้อย่างทั่วถึง และมีระบบเฝ้าระวังโรคที่มีประสิทธิภาพ ภายในปี พ.ศ.2554 ทั้งนี้ มีพื้นที่เป้าหมายดำเนินงานทั้งหมด 30 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง พะเยา น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก หนองคาย เลย นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ สระแก้ว จันทบุรี ตราด สงขลา นราธิวาส ยะลา และสตูล ************************************ 6 สิงหาคม 2552


   
   


View 37    06/08/2552   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ