สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโรงพยาบาลวัดจันทร์เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นโรงพยาบาล 1 ใน 9 แห่งของโครงการพัฒนาโรงพยาบาลชุมชนเฉลิมพระเกียรติ ให้บริการประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร ห่างไกลการเข้าถึงบริการ และจัดระบบบริการการแพทย์ทางไกล ให้คำปรึกษาการดูแลรักษาผู้ป่วยแก่ 3 สถานีอนามัย วันนี้ (6 สิงหาคม 2552) เวลา 15.00 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดแพรคลุมป้ายโรงพยาบาลวัดจันทร์เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ โดยมี นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการและประชาชน เฝ้ารับเสด็จฯ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กราบบังคมทูลรายงานว่า โรงพยาบาลวัดจันทร์เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา เป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 10 เตียง และเป็น 1 ใน 9 แห่ง ที่กระทรวงสาธารณสุขจัดสร้างให้เป็นโรงพยาบาลชุมชนเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม พ.ศ. 2550 เพื่อให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ทุรกันดารห่างไกล การคมนาคมลำบาก ได้เข้าถึงบริการสุขภาพที่ได้มาตรฐาน โดยได้จัดสรรงบประมาณก่อสร้างพร้อมอุปกรณ์การแพทย์ ในปีงบประมาณ 2549 และเงินบริจาคจากมูลนิธิ ดร.เทียม โชควัฒนา รวมเป็นเงิน 62,295,247 บาท (หกสิบสองล้านสองแสนเก้าหมื่นห้าพันสองร้อยสี่สิบเจ็ดบาทถ้วน)สร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2550 เป็นต้นมา โรงพยาบาลวัดจันทร์เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา อยู่ห่างจากตัวอำเภอแม่แจ่ม 289 กิโลเมตร สภาพพื้นที่เป็นภูเขา ใช้เวลาเดินทางไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมง รับผิดชอบดูแลสุขภาพประชาชน 21 หมู่บ้านที่อยู่ในเขตตำบลบ้านจันทร์ แม่แดด และแจ่มหลวง รวม 11,603 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขา มีบุคลากรทั้งหมด 51 คน เป็นแพทย์ 1 คน ทันตแพทย์ 1 คน เภสัชกร 1 คน พยาบาลวิชาชีพ 12 คน ที่เหลือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นๆ มีผู้ป่วยใช้บริการเฉลี่ยวันละ 50-60 ราย และรับผู้ป่วยพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเฉลี่ยวันละ 8 ราย ส่วนใหญ่ป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ ภูมิแพ้ และไข้รากสาดใหญ่ นอกจากนี้ โรงพยาบาลวัดจันทร์เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ยังได้จัดระบบการแพทย์ทางไกลผ่านดาวเทียม ให้บริการปรึกษาการดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วยแก่สถานีอนามัย 3 แห่ง ซึ่งตั้งอยู่บนภูเขา ได้แก่ สถานีอนามัยบ้านจันทร์ สถานีอนามัยแม่ละอุป และสถานีอนามัยแม่แดดน้อย นอกจากนี้ยังเปิดบริการด้านการแพทย์แผนไทย เช่น นวด อบ ประคบสมุนไพร เป็นทางเลือกแก่ประชาชนในการรักษาด้วย สำหรับระบบการบริหารจัดการของโรงพยาบาลแห่งนี้ ยึดหลักธรรมาภิบาล มีตัวแทนของชุมชน ผู้ทรงคุณวุฒิในพื้นที่ เข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการที่ปรึกษาโรงพยาบาล ให้เป็นไปตามความต้องการของประชาชนและเหมาะสมกับสภาพปัญหาสุขภาพพื้นที่ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ส่งเสริมกิจกรรมจิตอาสา ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริการผู้เจ็บป่วยร่วมกับเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล สร้างสัมพันธภาพระหว่างโรงพยาบาลกับชุมชน มีความใกล้ชิดกันมากขึ้น ************************************6 สิงหาคม 2552


   
   


View 13    06/08/2552   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ