กระทรวงสาธารณสุขแถลงสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ ของไทย รอบสัปดาห์ที่ผ่านมามีแนวโน้มชะลอตัว จำนวนผู้เสียชีวิตลดลงเหลือ 16 ราย ส่วนใหญ่ยังคงเป็นคนอ้วนและผู้มีโรคประจำตัว และมารับการรักษาช้า เฉลี่ย 5-6 วันหลังป่วย ส่วนกลุ่มนักเรียนพบป่วยน้อยลง แต่กลุ่มรับจ้างและเกษตรกรมีแนวโน้มป่วยเพิ่มขึ้น แนะยึดหลักป่วยแล้วต้องหยุดพักอยู่กับบ้านจนหายเป็นปกติ เพื่อตัดโอกาสแพร่เชื้อ
วันนี้ (5 สิงหาคม 2552) ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ. ม.ล.สมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ศ. นพ.ยง ภู่วรวรรณ ศูนย์ไวรัสวิทยา รพ.จุฬาลงกรณ์ รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมการแพทย์ นพ.ศุภมิตร ชุณห์สุทธิ์วัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค พญ.มัวรีน เบอร์มิงแฮม ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย (Dr. Maureen Birmingham, WHO Representative to Thailand) และ นพ.มาร์ค ซิมเมอร์แมน (Dr. Mark Simmerman) ผู้แทนศูนย์ควบคุมโรคแห่งชาติสหรัฐอเมริกา แถลงข่าวโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 ว่า
จากการติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ ทั่วโลก พบการระบาดกระจายไปกว่า 160 ประเทศ ซึ่งองค์การอนามัยโลกและศูนย์ควบคุมโรคแห่งชาติสหรัฐอเมริกา ได้หยุดการรายงานตัวเลขผู้ป่วยสะสม ตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2552 ที่ผ่านมา เนื่องจากไม่ได้สะท้อนถึงจำนวนผู้ติดเชื้อที่แท้จริง ในส่วนของประเทศไทย จากการวิเคราะห์ข้อมูลทางระบาดวิทยา คาดว่าขณะนี้มีผู้ติดเชื้อประมาณ 3.5-5 แสนคน ส่วนใหญ่หายเป็นปกติแล้วเนื่องจากอาการไม่มาก ซึ่งสอดคล้องกับทั่วโลก การระบาดมีแนวโน้มชะลอตัวลงในกทม.และปริมณฑล ส่วนภูมิภาคมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มนักเรียนชะลอลง ชี้ให้เห็นว่ามาตรการคัดกรองเด็กนักเรียนป่วยที่โรงเรียน ของกระทรวงศึกษาธิการ เริ่มมีผลและถูกต้อง ขณะเดียวกัน พบผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มรับจ้างในภาคธุรกิจย่อยและเกษตรกรมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ซึ่งต้องเน้นมาตรการของรัฐบาล ที่ให้ผู้ป่วยหยุดพักการทำงานอยู่กับบ้านจนกว่าจะหายเป็นปกติ โดยไม่ถือเป็นวันลา
ทั้งนี้ ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาตั้งแต่ 26 กรกฎาคม-2 สิงหาคม 2552 กระทรวงสาธารณสุขขึ้นทะเบียนผู้เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ ทั่วประเทศ 16 ราย เป็นชาย 9 ราย หญิง 7 ราย ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 5 ราย ร้อยละ 75 เป็นผู้ที่มีโรคประจำตัว มากที่สุดคือ อ้วน รองลงมาคือ เบาหวาน หอบหืด สูบบุหรี่จัด หัวใจพิการแต่กำเนิด จำนวนผู้เสียชีวิตที่ลดลง เป็นผลมาจากการที่ประชาชนมีความตื่นตัวและเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้ดีขึ้น รวมทั้งเข้าถึงยาต้านไวรัสที่กระทรวงสาธารณสุขกระจายไปทั่วประเทศถึงระดับคลินิก อย่างไรก็ตาม พบว่าผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ยังมารับการรักษาช้า เฉลี่ยหลังป่วยแล้ว 5-6 วัน ทำให้อาการหนักและการรักษาด้วยยาต้านไวรัสไม่ได้ผล
สำหรับยุทธศาสตร์และมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขจะดำเนินการต่อไป ยังคงเน้นหนักเรื่อง 2 ลด 3 เร่ง ได้แก่ 1.ลดการเสียชีวิตให้ได้มากที่สุด โดยเน้นให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์อย่างรวดเร็ว 2.ลดการติดเชื้อและการป่วยให้มากที่สุด โดยกระตุ้นให้ประชาชนมีพฤติกรรมที่ถูกต้อง ในการป้องกันตนเองไม่ให้ติดเชื้อ และไม่แพร่เชื้อสู่คนอื่นขณะป่วย เช่น ล้างมือบ่อยๆ ใช้หน้ากากอนามัย 3.เร่งให้อสม.กว่า 980,000 คนทั่วประเทศ ออกให้คำแนะนำและค้นหาผู้ป่วยในหมู่บ้านและชุมชนเป็นประจำ 4.เร่งการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนสามารถป้องกันตนเองได้อย่างถูกต้อง โดยร่วมมือเป็นเครือข่ายกับหน่วยงานต่างๆ เช่น สสส. สปสช. และ 5.เร่งกระจายการบริหารจัดการสู่ระดับจังหวัด โดยรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข มอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ติดตาม กำกับ ให้มีการปฏิบัติตามมาตรการเหล่านี้ในพื้นที่อย่างจริงจัง
ทั้งนี้ ขอความร่วมมือประชาชนทุกคน ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด โดยผู้ที่ยังไม่ป่วย ควรรักษาร่างกายให้แข็งแรง ด้วยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ กินอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ ล้างมือด้วยสบู่บ่อยๆ หากไปในที่ชุมนุมชนหนาแน่น ให้ใส่หน้ากากอนามัยป้องกันการติดเชื้อ และหากมีอาการป่วยเป็นไข้หวัด กินยาลดไข้แล้วไม่ดีขึ้นภายใน 2 วันหลังป่วย ให้ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลหรือคลินิกใกล้บ้านที่เข้าร่วมโครงการจ่ายยาต้านไวรัสของกระทรวงสาธารณสุข ส่วนกลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัว หญิงตั้งครรภ์ คนอ้วน หากมีอาการป่วยไข้หวัด ขอให้รีบไปพบแพทย์ทันที ไม่ต้องรอรักษาที่บ้าน และหากมีข้อสงสัย สามารถติดต่อสอบถามเจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้ทางสายด่วน 1422 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง
***********************************5 สิงหาคม 2552
View 14
05/08/2552
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ