รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันทั่วประเทศมียาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์เพียงพอ พร้อมจ่ายให้ประชาชนที่จำเป็นต้องได้รับยาทันที ทั้งที่โรงพยาบาลและคลินิกที่เข้าร่วมโครงการทั่วประเทศ ขณะเดียวกันเร่งรัดองค์การเภสัชกรรมผลิตยาต้านไวรัสชนิดน้ำ สำหรับใช้รักษาผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ ที่เป็นเด็กโดยเฉพาะ
นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังติดตามมาตรการกระจายยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ในคลินิก เพื่อรักษาผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 ที่มิตรไมตรีคลินิกเวชกรรม ถ.สนามบินน้ำ อ.เมือง จ.นนทบุรี ว่า คลินิกที่จะเข้าร่วมโครงการจ่ายยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์นั้น จะมีเฉพาะคลินิกที่รักษาโรคทั่วไป ไม่รวมถึงคลินิกเฉพาะทาง เช่น คลินิกโรคผิวหนัง คลินิกด้านความงาม ได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัด ประชุมทำความเข้าใจแนวทางการให้ยาต้านไวรัสกับคลินิกที่เข้าร่วมโครงการให้ชัดเจน ก่อนจะดำเนินการจ่ายยาให้สำรองที่คลินิกแห่งละ 50 เม็ด ซึ่งสามารถรักษาผู้ป่วยได้ 5 คน เพื่อให้ทุกแห่งปฏิบัติตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุขได้อย่างถูกต้อง
นายมานิต กล่าวต่อว่า แม้คลินิกที่เข้าร่วมโครงการแต่ละแห่งจะมียาต้านไวรัสเพียงแห่งละ 5 ชุด แต่ขอให้ประชาชนมั่นใจว่ากระทรวงสาธารณสุขมียาต้านไวรัสให้กับประชาชนที่จำเป็นต้องได้รับยาอย่างเพียงพอ ไม่ว่าจะไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลหรือคลินิก เพราะเมื่อคลินิกจ่ายให้กับผู้ป่วยแล้ว สามารถเบิกคืนกับโรงพยาบาลของรัฐที่อยู่ใกล้ที่ตั้งคลินิก เพื่อสำรองให้ครบจำนวนได้ตลอด ดังนั้น ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงจะมีอาการรุนแรงหากติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ได้แก่ เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป ผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น เบาหวาน หัวใจ ความดันโลหิตสูง มะเร็ง หญิงตั้งครรภ์ และคนอ้วน หากป่วยเป็นไข้หวัด กินยาแล้วอาการไม่ดีขึ้นภายใน 1 วัน ส่วนผู้ป่วยที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงอาการรุนแรง หากกินยาแล้วไม่ดีขึ้นภายใน 2 วัน ขอให้รีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลหรือคลินิกที่เข้าร่วมโครงการ
นายมานิต กล่าวต่ออีกว่า ขณะนี้ยังไม่มีการผลิตยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ที่ใช้สำหรับเด็กโดยเฉพาะ ในการใช้จะต้องแบ่งคำนวณจากยาแคปซูลของผู้ใหญ่ ซึ่งต้องใช้เภสัชกรดูแลผสมยา และมีใช้เฉพาะในโรงพยาบาลเท่านั้น ยังไม่สามารถจ่ายยาให้เด็กในคลินิกได้ ได้เร่งรัดให้องค์การเภสัชกรรม ผลิตยาต้านไวรัสชนิดน้ำสำหรับเด็กให้เร็วที่สุดแล้ว หากสามารถผลิตได้เร็วก็จะยิ่งสะดวกสำหรับการรักษาผู้ป่วยเด็กมากขึ้น
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขจะมีการประเมินผลการจ่ายยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ให้แก่ประชาชน ทั้งในส่วนของโรงพยาบาลรัฐและเอกชน และคลินิกที่เข้าร่วมโครงการทั่วประเทศ เพื่อดูปริมาณการใช้ยา รวมทั้งติดตามอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยภายหลังเพิ่มช่องทางการเข้าถึงยาให้รวดเร็วขึ้น ว่าลดลงหรือไม่ เพื่อปรับเปลี่ยนมาตรการให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากที่สุด
***************************************3 สิงหาคม 2552
View 14
03/08/2552
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ