สาธารณสุข จัดอบรมความรู้ แนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ให้แพทย์คลินิกในกทม.ที่เข้าร่วมโครงการจ่ายยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์วันนี้ คลินิกที่ผ่านเกณฑ์จะจ่ายยาต้านไวรัสฯแห่งละ 50 เม็ดทันที พร้อมใช้รักษาตั้งแต่วันพรุ่งนี้เป็นต้นไป ย้ำประชาชนที่ใช้บริการคลินิกต้องเสียค่าบริการอื่น ฟรีเฉพาะยาต้านฯอย่างเดียว พร้อมจัด 6 โรงพยาบาลเป็นศูนย์รับส่งต่อผู้ป่วยอาการรุนแรงจากคลินิกในกทม. วันนี้ ( 2 สิงหาคม 2552 ) ที่กระทรวงสาธารณสุข นนทบุรี ดร.นายแพทย์สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความคืบหน้าของการกระจายยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์รักษาผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 ให้คลินิกตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ว่า ในวันนี้ กรมสนับสนุนบริการฯได้ประชุมและจัดอบรมความรู้ในการวินิจฉัยโรคและการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ให้แพทย์จากคลินิกต่างๆในกทม.ที่ไม่ได้อยู่ในโครงการคลินิกอบอุ่นของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยมีคลินิกลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการและรับการอบรมครั้งนี้ 177แห่ง ส่วนใหญ่เป็นคลินิกตรวจรักษาโรคทั่วไป ซึ่งมีประมาณ 1 ใน 3 ของคลินิกทั้งหมดในเขตกทม. และยังมีอีกจำนวนมากที่สนใจ แต่มารับการอบรมไม่ได้เนื่องจากมีแพทย์ประจำเพียง 1 คน ซึ่งสามารถแจ้งความประสงค์เข้าร่วมโครงการกับกองการประกอบโรคศิลปะภายหลังได้ นายแพทย์สมยศกล่าวว่า ได้ชี้แจงมาตรการ 8 ข้อตามที่คณะอนุกรรมการการแพทย์กำหนด ได้แก่1.คลินิกต้องมีแพทย์เป็นผู้ดูแลและการสั่งจ่ายยาต้านไวรัสต้องทำโดยแพทย์เท่านั้น 2. มีบันทึกทางการแพทย์และรายงานอาการข้างเคียงจากการใช้ยา 3. มีการส่งต่อผู้ป่วยในรายที่มีอาการรุนแรงเกินกว่าจะดูแลรักษา 4. มีการติดตามการเปลี่ยนแปลงโรคของผู้ป่วยที่ดูแลรักษา 5. มีการป้องกันการติดเชื้อในสถานที่ตรวจ 6. แพทย์ต้องได้รับการอบรม และผ่านการประเมินความรู้ความเข้าใจ 7. แพทย์ต้องให้การดูแลรักษาตามแนวทางปฏิบัติการดูแลผู้ป่วย ( Clinical Practice Guideline) และ 8. มีการติดตาม ตรวจสอบ หารือเพื่อปรับปรุงแก้ไขปัญหาเป็นประจำทุกเดือน ทั้งนี้หลังจากคลินิกรับทราบเงื่อนไขต่างๆ จากนั้นจะให้กรอกใบสมัครเข้าร่วมโครงการ และหากคุณสมบัติได้ตามหลักเกณฑ์ กองประกอบโรคศิลปะจะจ่ายยาต้านไวรัสให้ทันที แห่งละ 50 เม็ด พร้อมที่จะใช้รักษาประชาชนตั้งแต่วันพรุ่งนี้เป็นต้นไป ซึ่งยาต้านไวรัสนี้จะให้ฟรี คลินิกไม่สามารถคิดเงินค่ายาส่วนนี้ ดังนั้นประชาชนที่เข้าใช้บริการที่คลินิกที่ร่วมโครงการ จะได้รับการยกเว้นค่ายาเฉพาะยาต้านไวรัสโอเซลทาเวียร์อย่างเดียวเท่านั้น แต่บริการอื่นๆคงต้องจ่ายตามปกติ เช่นยาลดไข้ ยาลดน้ำมูก หรือยาแก้อักเสบ และอื่นๆเป็นต้น โดยให้คลินิกจัดทำสรุปหลักฐานการจ่ายยา ส่งกองการประกอบโรคศิลปะทุกสัปดาห์ หรือหากยาหมดก่อนก็สามารถแจ้งรายงานการใช้ก่อนได้ นายแพทย์สมยศกล่าวต่อว่า หากแพทย์คลินิกพบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ใหม่ฯที่มีอาการรุนแรง ให้ส่งตัวผู้ป่วยไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล โดยมีแบบฟอร์มการบันทึกประวัติการรักษาผู้ป่วยที่คลินิกควบคู่ไปด้วย เพื่อการดูแลรักษาต่อของแพทย์โรงพยาบาล โดยให้ส่งไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ในกทม.และปริมณฑล 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลเลิดสิน สถาบันโรคทรวงอก สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี และสถาบันบำราศนราดูร ตลอด 24 ชั่วโมง อย่างไรก็ตามระบบการกระจายยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ในเขตกทม. ไม่น่าเป็นห่วง เนื่องจากในกทม.มีโรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลภาครัฐสังกัดกระทรวงสาธารณสุข กทม. กลาโหม ทบวงมหาวิทยาลัย ตำรวจ สภากาชาดไทย จำนวนมาก ประชาชนที่เจ็บป่วยและมีความจำเป็นต้องใช้ยาต้านไวรัส สามารถเข้าถึงยาได้ง่าย และหากกระจายในคลินิกเพิ่มขึ้น ก็จะสร้างความมั่นใจประชาชนได้เข้าถึงยาได้ง่ายขึ้นไปอีก ด้านนายแพทย์ธารา ชินะกาญจน์ ผู้อำนวยการกองการประกอบโรคศิลปะกล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้จัดเอกสารทำแนวทางการป้องกันการการแพร่กระจายเชื้อโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ ในคลินิก โดยให้คลินิกจัดสถานที่ตรวจผู้ป่วยที่สงสัยไข้หวัดใหญ่คือมีไข้ ร่วมกับอาการไอ คัดจมูก น้ำมูกไหล เจ็บคอ เป็นต้น ให้ผู้ป่วยทุกรายสวมหน้ากากอนามัยระหว่างรอตรวจ ต้องจัดให้มีจุดล้างมือด้วยน้ำ และสบู่หรือเจลล้างมือ รวมถึงถังขยะติดเชื้อ ทั้งนี้คลินิกเอกชน ที่รับฝากครรภ์หรือรักษาผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่นโรคหัวใจ โรคไต เบาหวาน อาจมีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อ ควรแยกจุดบริการผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ออกจากผู้ป่วยอื่นๆตั้งแต่การทำบัตร คัดกรอง ตรวจรักษา จ่ายเงินและรับยา โดยบุคลากรในคลินิกต้องได้รับการอบรมความรู้เรื่องไข้หวัดใหญ่ และการควบคุมการติดเชื้อในคลินิก และมีการดูแลความสะอาดคลินิกตามมาตรฐาน คลินิกทุกแห่งหลังจากที่ตรวจรักษาผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่แล้ว ต้องแนะนำผู้ป่วยให้ใช้หน้ากากอนามัยปิดปาก ปิดจมูกตลอดเวลา หลีกเลี่ยงการคลุกคลีบุคคลในครอบครัว และหากมีอาการมากขึ้น คือมีไข้สูงเกิน 2 วัน นับจากมีไข้วันแรก ไอมาก เจ็บหน้าอก หายใจเร็ว เหนื่อย อ่อนเพลีย รับประทานอาหารไม่ได้ อาเจียน หรือถ่ายอุจจาระมาก ให้รีบไปโรงพยาบาลทันที โดยได้จัดส่งแนวทางดังกล่าวให้คลินิกทั่วประเทศเพื่อปฏิบัติเป็นแนวทางเดียวกันแล้ว นายแพทย์ธารากล่าว **************** 2 สิงหาคม 2552


   
   


View 12    02/08/2552   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ