รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขเผย 2 สาเหตุหลักที่ทำให้ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่เสียชีวิต ได้แก่ ผู้ที่มีโรคประจำตัวและมาพบแพทย์ช้า เร่งลงพื้นที่ย้ำ อสม.ออกปฏิบัติการค้นหาผู้ป่วยไข้หวัด เน้นผู้ป่วยโรคปอด หอบหืด หัวใจ เบาหวาน โรคไต ผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ โรคอ้วน ผู้สูงอายุ เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี หญิงมีครรภ์ พบจากปฏิบัติการวันแรก อสม.เยี่ยมบ้านไปแล้ว กว่า 2 ล้านหลังคาเรือน
วันนี้(2 สิงหาคม 2552)นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ติดตามการดำเนินงานควบคุมป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 ที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย และโรงพยาบาลจังหวัดเลย พร้อมมอบนโยบายการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ และรับฟังปัญหา อุปสรรคในการดำเนินงาน นอกจากนี้ได้มอบนโยบายให้กับ อสม. ในการรับมือการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ ในหมู่บ้าน/ชุมชน ลดการเสียชีวิต
นายมานิต กล่าวว่า จากการวิเคราะห์ในกลุ่มผู้เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ พบสาเหตุใหญ่เกิดมาจาก 2 ประเด็นคือ การเป็นผู้มีปัจจัยเสี่ยงอาการรุนแรงเมื่อป่วย ได้แก่ โรคปอด หอบหืด หัวใจ เบาหวาน โรคไต ผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ โรคอ้วน ผู้สูงอายุ เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี หญิงมีครรภ์ พบได้กว่าร้อยละ 60 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด อีกสาเหตุหนึ่งก็คือ เมื่อป่วยแล้วมาพบแพทย์ช้าเกินไป ทำให้โรคลุกลามไปมากจนไม่สามารถรักษาได้
ในการแก้ไขปัญหานี้ กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ระดมพลัง อสม.กว่า 987,000 คนทั่วประเทศ ออกเยี่ยมบ้านสัปดาห์ละ 3 วัน เพื่อให้คำแนะนำและแจกเอกสารความรู้โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ แก่ประชาชน เพื่อให้สามารถปฎิบัติตัวได้อย่างถูกวิธี และค้นหาคนที่ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ทุกหมู่บ้านชุมชนในความรับผิดชอบของแต่ละคน ประมาณ 10 -15 หลังคาเรือน โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังข้างต้น ให้รีบมาพบแพทย์ทันทีที่ป่วยเป็นไข้หวัด ส่วนประชาชนทั่วไปให้ติดตามอาการ หากป่วยเป็นไข้หวัด 2 วันแล้วยังไม่ดีขึ้นให้ส่งไปพบแพทย์ เพื่อได้รับการดูแลรักษาอย่างทันท่วงที ลดการเสียชีวิต และติดตามอาการจนหายป่วย พร้อมทั้งรายงานข้อมูลคนป่วยให้สถานีอนามัยในพื้นที่ทุกวัน ซึ่งจากการดำเนินในวันที่ 31 กรกฎาคม 2552 ซึ่งเป็นวันแรกของการออกปฏิบัติการค้นหาผู้ อสม.ทั่วประเทศสามารถเยี่ยมบ้านได้ กว่า 2 ล้านหลังคาเรือน
พร้อมกันนี้ได้ขอความร่วมมือประธานอสม. ทุกหมู่บ้านจัดทำแผนป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ที่เหมาะสมกับหมู่บ้าน/ชุมชนของตน ส่งให้กระทรวงสาธารณสุขรวบรวมเพื่อกำหนดเป็นแผนยุทธศาสตร์ของประเทศในการป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่ในระดับชนบท ทุกจังหวัด
นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ให้โรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่ง ส่งทีมเจ้าหน้าที่ ออกให้ความรู้การป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ รวมทั้งคัดกรองผู้ป่วยในโรงเรียน สถานประกอบการ โดยให้โรงพยาบาลทุกแห่งตั้งจุดตรวจผู้ป่วยหรือสงสัยป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ แยกออกจากห้องตรวจโรคของผู้ป่วยทั่วไป ให้บริการแบบเบ็ดเสร็จจุดเดียว (One Stop Service) เพื่อสามารถให้บริการผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็ว ป้องกันการแพร่เชื้อไปยังผู้ป่วยอื่นๆ ส่วนในด้านการรักษาพยาบาล ได้จัดส่งคู่มือแนวทางการรักษาผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ ให้โรงพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศแล้ว เน้นการรักษาที่รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ผู้ป่วยที่อาการรุนแรงหรือกลุ่มที่มีความเสี่ยง สามารถให้ยาต้านไวรัสได้ทันที โดยไม่ต้องรอผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการนายมานิต กล่าว
*****2 สิงหาคม 2552
View 10
02/08/2552
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ