สาธารณสุขจับมือคณะแพทยศาสตร์ 13 แห่ง ร่วมผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบทใน 2 โครงการ ภายในปี 2562 จะมีแพทย์เพิ่มจากระบบปกติกลับไปดูแลประชาชนในต่างจังหวัดอีกกว่า 7,000 คน ภายในปี 2562 ไทยจะมีแพทย์ดูแลประชาชนในอัตราเฉลี่ยแพทย์ 1 คนดูแลประชาชน 1,500 คน เท่ามาตรฐานสากล ล่าสุดขณะนี้ทั่วประเทศมีแพทย์ในภาครัฐเอกชนประมาณ 30,000 คน โดยเฉลี่ยแพทย์ 1 คนต่อประชาชน 2,200 คน วันนี้ (31 กรกฎาคม 2552) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยรศ.ดร.ประกอบ วิโรจนกูฎ อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ศ.ดร.สุชาติ อุปถัมภ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา ผศ. ดร.ศุภชัย สมัปปิโต อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นประธานพิธีลงนามความร่วมมือในการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบทระหว่างกระทรวงสาธารณสุข และ 3 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยบูรพา และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยมี รศ.นพ.ป่วน สุทธิพินิจธรรม คณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข ม.อุบลราชธานี ลงนามกับนพ.มนัส กนกศิลป์ ผอ.รพ.สรรพสิทธิประสงค์ และนพ.ชาย ธีระสุต ผอ.รพ.ศรีสะเกษ นพ.วรรณะ อูนากูล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ม.บูรพา ลงนามกับนพ.วิชาญ เกิดวิชัย ผอ.รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร และศ.นพ.สมพร โพธินาม คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ม.มหาสารคาม ลงนามกับนพ.ณรงค์ อึ้งตระกูล ผอ.รพ.ร้อยเอ็ด และนพ.สมปอง เจริญวัฒน์ ผอ.รพ.กาฬสินธุ์ นายแพทย์ปราชญ์กล่าวว่า ประเทศไทยประสบปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุขมาโดยตลอด โดยเฉพาะในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ข้อมูลล่าสุดในปี 2552 ทั่วประเทศมีแพทย์ที่ทำงานในรพ.ภาครัฐและเอกชนประมาณ 30,000 คน เฉลี่ยแพทย์ 1 คนดูแลประชาชน 2,200 คน กระทรวงสาธารณสุข ได้เร่งเดินหน้าผลิตแพทย์เติมเต็มในระบบบริการสุขภาพอย่างต่อเนื่อง โดยร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยทั้ง 13 แห่ง ได้แก่ม.ธรรมศาสตร์ ม.จุฬาลงกรณ์ ม.มหิดล ม.เชียงใหม่ ม.ขอนแก่น ม.นเรศวร ม.สงขลานครินทร์ ม.เทคโนโลยีสุรนารี ม.วลัยลักษณ์ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ ม.บูรพา ม.มหาสารคาม และม.อุบลราชธานี ผลิตแพทย์เพิ่มจากระบบปกติอีก 2 โครงการ คือ โครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท พ.ศ.2547-2556 มีเป้าหมายผลิต 3,807 คน และโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐด้านการแพทย์และสาธารณสุข ตามแผนการพัฒนากำลังคนด้านสาธารณสุข พ.ศ.2549-2556 เป้าหมายผลิต 3,505 คน ใช้งบปีละ 1,500 ล้านบาท โดยกำลังผลิตแพทย์เพื่อชนบทของกระทรวงสาธารณสุขจะเพิ่มจาก 924 คนในปี 2552 เป็น 1,024 คนในปี 2553 และจะผลิตเพิ่มขึ้นตามลำดับ โดยทั้งประเทศจะมีกำลังการผลิตแพทย์ได้ปีละ 2,700 คน คาดว่าจะช่วยให้อัตราส่วนแพทย์ของไทยเท่ากับมาตรฐานสากลคือ 1 คนดูแลประชาชน 1,500 คนในปี 2562 ด้านนายแพทย์สุวัฒน์ เลิศสุขประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบทกล่าวว่า ตามโครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบทนี้ มหาวิทยาลัย 13 แห่งและกระทรวงสาธารณสุขจะร่วมกันคัดเลือกเด็กนักเรียนในจังหวัดต่างๆที่มีผลการเรียนดี เข้าศึกษาตามหลักสูตรแพทยศาสตร์ 6 ปีตามมาตรฐานที่แพทยสภากำหนดเช่นเดียวกับระบบปกติ โดย 3 ปีแรกเรียนภาคทฤษฎีที่คณะแพทยศาสตร์ ส่วนปีที่ 4-6 ศึกษาภาคปฏิบัติในรพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไปของกระทรวงสาธารณสุข 32 แห่ง เมื่อจบการศึกษาจะได้รับปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิตของมหาวิทยาลัยนั้นและกลับภูมิลำเนาเดิมทำงานชดใช้ทุน 3 ปี สำหรับการลงนามความร่วมมือกับม.อุบลราชธานี ม.บูรพา และม.มหาสารคามครั้งนี้ จะรับนักศึกษาแห่งละ 48 คนต่อปี และฝึกภาคปฏิบัติที่ รพ.สรรพสิทธิประสงค์อุบลราชธานี รพ.ศรีสะเกษ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ รพ.กาฬสินธุ์ และรพ.ร้อยเอ็ด *********31 กรกฎาคม 2552


   
   


View 11    31/07/2552   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ