กระทรวงสาธารณสุข ชี้มาตรการแก้ไขป้องกันรักษาโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ของไทย ไม่แตกต่างจากมาตรฐานโลก ทิศทางขณะนี้ทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับการใช้ยาต้านไวรัสรักษาผู้ป่วย ให้ใช้ในรายจำเป็นและมีอาการรุนแรง ซึ่งมีเพียงร้อยละ 1-2 เท่านั้น เพื่อป้องกันปัญหาเชื้อดื้อยา ส่วนผู้ติดเชื้อที่อาการน้อย สามารถพักผ่อนรักษาที่บ้านได้โดยรักษาตามอาการไม่ต้องใช้ยาต้านไวรัส
วันนี้ (25 มิถุนายน 2552) นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยความคืบหน้ามาตรการควบคุมป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ ว่า ในรอบ 24 ชั่วโมงมานี้ กระทรวงสาธารณสุขได้รับรายงานผู้ป่วยมีผลยืนยันทางห้องปฏิบัติการเพิ่ม 69 ราย รวมยอดผู้ป่วยยืนยันสะสมตั้งแต่เดือนเมษายน - 24 มิถุนายน 2552 ทั้งหมด 1,054 ราย หายเป็นปกติแล้ว 1,037 ราย ชี้ให้เห็นว่าโรคนี้ไม่ได้น่ากลัวและรุนแรงเหมือนในระยะแรกของประเทศเม็กซิโก ที่ประชาชนเกิดการตื่นตระหนก และขณะนี้มีผู้ป่วยนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลเพียง 17 รายเท่านั้น ทุกรายมีอาการดีขึ้น
ทางด้านรศ.นายแพทย์ทวี โชติพิทยสุนันท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการเดินทางไปร่วมประชุมในฐานะตัวแทนของประเทศไทย เรื่องแนวทางการใช้ยาต้านไวรัสรักษาโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ให้เหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งเดิมเป็นแนวทางการรักษาผู้ป่วยไข้หวัดนก ไม่เหมาะกับการใช้รักษาผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ในปัจจุบัน การประชุมจัดที่องค์การอนามัยโลก นครเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ โดยมีประเทศพัฒนาแล้วได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อังกฤษ ออสเตรเลีย และประเทศกำลังพัฒนาอีก 2 ประเทศได้แก่ ไทย และเม็กซิโก เข้าร่วมประชุม โดยหารือ 2 ประเด็นหลักได้แก่การรักษาพยาบาลผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ ด้วยยาต้านไวรัสที่เหมาะสม และการรับมือปัญหาดื้อยาในอนาคต
ผลการประชุมได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า ขณะนี้แนวทางการใช้ยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์รักษาผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ มีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางเดียวกันทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย โดยจะใช้ยาต้านไวรัสต่างๆในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงซึ่งมีร้อยละ 1-2 และใช้ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ผู้ป่วยเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี ผู้ป่วยสูงอายุ ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันโรคต่ำ ผู้ป่วยที่ตั้งครรภ์ ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่นเบาหวาน โรคหัวใจ โรคปอด ฯลฯ ที่เหลือไม่จำเป็นต้องใช้ยา และการใช้ยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์รักษาต้องใช้อย่างสมเหตุสมผล โดยเริ่มต้นตั้งแต่การตรวจวินิจฉัยตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ เช่น ผู้ป่วยอาการรุนแรง ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงดังกล่าวข้างต้น หรือผู้ป่วยที่เกิดขึ้นเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ๆ สำหรับการป้องกันโดยใช้ยาต้านไวรัสนั้นใช้เฉพาะมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ที่ชัดเจนเท่านั้น ซึ่งการป้องกันโรคนี้สามารถทำได้ด้วยวิธีการอื่นๆที่ไม่ต้องใช้ยาต้านไวรัส เช่น ใช้หน้ากากอนามัย การล้างมือ เพื่อป้องกันปัญหาขาดแคลนยาและปัญหาดื้อยาที่อาจเกิดขึ้นตามมาในอนาคต
สำหรับแนวทางควบคุมป้องกันโรค ในระยะแรกทุกประเทศมีมาตรการเข้มข้นในการป้องกันไม่ให้เชื้อเข้าประเทศ ต่อมาคณะผู้เชี่ยวชาญในหลายประเทศ มีความเข้าใจถึงธรรมชาติของโรคและมีประสบการณ์มากขึ้น จึงปรับยุทธศาสตร์ เน้นให้ประชาชนดูแลตนเอง โดยการล้างมือบ่อยๆ พักผ่อนให้เพียงพอ และพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาในกรณีที่มีอาการรุนแรง ส่วนในรายที่มีอาการน้อยๆ แนะนำให้ดูแลพักผ่อนที่บ้านหากไม่จำเป็นไม่ควรมาโรงพยาบาลเพื่อตรวจว่าใช่โรคนี้หรือไม่เพราะจะเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่นี้จากโรงพยาบาล
...................... 25 มิถุนายน 2552
View 18
25/06/2552
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ