กระทรวงสาธารณสุข ประชุมผู้ประกอบการทัวร์จัดหางานต่างประเทศระยะสั้น และผู้บริหารสถานศึกษา แจงมาตรการควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ เน้นส่งเสริมพฤติกรรมอนามัยนักเรียน ทำความสะอาดจุดที่เสี่ยงแพร่เชื้อเป็นประจำ และติดตามอาการนักศึกษาที่กลับจากต่างประเทศ 7 วัน หากพบมีไข้ ให้แจ้งกรมควบคุมโรคหรือกทม. หรือที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนั้นๆ ล่าสุดได้รับแจ้งจากไต้หวันว่าพบนักท่องเที่ยวไต้หวันติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่หลังกลับจากไทย กำลังอยู่ระหว่างประสานงานเพื่อสอบสวนโรคร่วมกัน บ่ายวันนี้ (9 มิถุนายน 2552) ที่ห้องประชุมกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข ประชุมผู้ประกอบการด้านทัวร์จัดหางานระยะสั้น ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) คณะกรรมการการศึกษาภาคเอกชน คณะกรรมการการอุดมศึกษา ผู้บริหารโครงการ วายอีเอส (YES) และเอเอฟเอส (AFS) โครงการศึกษาแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เพื่อขอความร่วมมือป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 ไปในแนวทางเดียวกัน เนื่องจากขณะนี้อยู่ในช่วงนักศึกษาไทยที่เดินทางไปศึกษาหรือหาประสบการณ์การทำงาน และท่องเที่ยวในต่างประเทศระหว่างปิดภาคเรียน ทยอยเดินทางกลับเพื่อศึกษาต่อในสถาบันศึกษาในประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่กลับมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา อาจนำเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่มาแพร่ในประเทศได้ นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ออกคำแนะนำการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ (เอช 1 เอ็น 1) กรณีนักเรียน นิสิต นักศึกษา ที่กลับจากการศึกษาหรือหาประสบการณ์การทำงานและท่องเที่ยว ณ ต่างประเทศ อาจมีผู้ติดเชื้อในระยะที่ยังไม่แสดงอาการ และจะเริ่มป่วยหลังกลับเข้าประเทศ และแพร่เชื้อแก่ผู้ใกล้ชิด ทำให้มีการแพร่กระจายเชื้อและเกิดการระบาดในประเทศได้ เนื่องจากผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิด เอ (เอช 1 เอ็น 1) ส่วนใหญ่มักมีอาการไม่รุนแรง ผู้ป่วยจึงอาจไม่ตระหนักว่าได้ติดเชื้อนี้ หรือไม่สนใจจะมาพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา จึงแพร่เชื้อได้โดยไม่รู้ตัว กระทรวงสาธารณสุขจึงขอความร่วมมือ ดังนี้ ในกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา ขอให้เฝ้าติดตามอาการของตนเองอย่างใกล้ชิดเป็นเวลา 7 วัน โดยในระยะ 3 วันแรกควรพักอยู่ที่บ้าน ก่อนไปโรงเรียน มหาวิทยาลัยหรือสถานศึกษา หรือเข้าร่วมกิจกรรมอื่นๆ และในระหว่างที่เฝ้าติดตามอาการ ควรหลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้อื่น หากมีอาการไข้ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา และควรแจ้งแพทย์ให้ทราบว่าเพิ่งเดินทางกลับจากต่างประเทศ ส่วนสถานศึกษา ขอความร่วมมือ 3 ประการ ประการแรก ในช่วงเดือนแรกของการเปิดภาคการศึกษา ควรสำรวจว่ามีนักเรียน นิสิต นักศึกษาผู้ใดเพิ่งเดินทางกลับจากต่างประเทศ และแนะนำให้เฝ้าติดตามอาการของตนเองอย่างใกล้ชิดเป็นเวลา 7 วัน โดยในระยะ 3 วันแรกควรพักอยู่ที่บ้าน ประการที่ 2 ควรจัดบริการตรวจสุขภาพและให้คำแนะนำช่วยเหลือด้านสุขภาพแก่นักเรียน นิสิต นักศึกษา ที่อาจมีอาการเจ็บป่วยในช่วงนี้ หากพบว่ามีไข้หรือมีอาการป่วยหลายคนในระยะเวลาใกล้เคียงกัน ให้แจ้งสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค หรือสำนักอนามัย กทม. หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด/เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อสอบสวนควบคุมโรคให้ไม่แพร่ระบาด ประการสุดท้าย ขอให้สถานศึกษาพิจารณายืดหยุ่นในการลงทะเบียนหรือการเข้าเรียนแก่นักศึกษาที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ เป็นเวลาอย่างน้อย 3 วัน ซึ่งอาจอยู่ระหว่างการพักเฝ้าติดตามอาการอยู่ที่บ้าน หรือระหว่างได้รับการดูแลกรณีป่วยหลังเดินทางกลับจากต่างประเทศ ทั้งนี้ สามารถดูคำแนะนำดังกล่าวได้จากเว็บไซต์ของกระทรวงสาธารณสุข www.moph.go.th และหากมีข้อสงสัย สามารถติดต่อศูนย์บริการข้อมูลไข้หวัดใหญ่สาบพันธุ์ใหม่ หมายเลขโทรศัพท์ 0-2590-3333 และ 0-2590-1994 ตลอด 24 ชั่วโมง ด้านนายแพทย์ศุภมิตร ชุณห์สุทธิวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ล่าสุดในวันนี้ กระทรวงสาธารณสุขไทยได้รับแจ้งจากกระทรวงสาธารณสุขไต้หวัน ว่ามีนักท่องเที่ยวชาวไต้หวัน 2 คน ตรวจพบว่าติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 หลังเดินทางกลับจากการท่องเที่ยวในประเทศไทย โดยได้เดินทางร่วมกับกลุ่มทัวร์ชาวไต้หวัน ในขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขไทยกำลังประสานงานกับกระทรวงสาธารณสุขไต้หวัน เพื่อร่วมกันสอบสวนให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจน เพื่อวางแผนการป้องกันควบคุมโรคต่อไป ทางด้านนายแพทย์สุวัช เซียศิริวัฒนา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ในการควบคุมป้องกันการแพร่กระจายของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ เนื่องจากโรคนี้ติดต่อกันทางการไอ จาม เชื้อจะอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ ของผู้ที่ติดเชื้อ โดยเชื้อจะมีชีวิตอยู่ภายนอกร่างกายได้นานหลายชั่วโมง จุดเสี่ยงที่คนปกติจะมีโอกาสติดเชื้อ ได้แก่ ลูกบิดประตู ปุ่มกดลิฟท์ ราวบันได โทรศัพท์สาธารณะ จึงขอให้สถานศึกษาทุกแห่งทำความสะอาดจุดเสี่ยงดังกล่าว ด้วยน้ำสบู่หรือผงซักฟอก อย่างน้อยวันละ 1-2 ครั้ง เพื่อฆ่าเชื้อโรค เปิดประตูหน้าต่างเพื่อให้อากาศถ่ายเทหมุนเวียน ประชาสัมพันธ์ร้านอาหารภายในสถาบันการศึกษาให้ใช้ช้อนกลาง ส่วนผู้ที่มีอาการป่วยเป็นไข้หวัดให้ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือฟอกสบู่บ่อยๆ และจัดถังขยะสำหรับให้ทิ้งกระดาษทิชชูที่ใช้แล้ว ไม่ให้ทิ้งเรี่ยราด เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ ************************************ 9 มิถุนายน 2552


   
   


View 15    09/06/2552   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ