รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระดมหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน หามาตรการป้องกันไม่ให้คนที่อยู่พื้นที่ภาคใต้ถูกยุงกัดใน 3 เดือน เพื่อยุติสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือชิคุนกุนยาให้ได้ และสั่งการให้โรงพยาบาลทุกแห่งในภาคใต้ ดูแลหญิงตั้งครรภ์ที่ป่วยเป็นโรคไข้ปวดข้อยุงลาย เป็นกรณีพิเศษ
นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้า สถานการณ์การระบาดของโรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือชิคุนกุนยา ที่กำลังระบาดที่จังหวัดตรัง ว่า เบื้องต้นได้รับรายงานมีหญิงตั้งครรภ์หลายคนได้รับเชื้อชิคุนกุนยา และมีทารกได้รับเชื้อจากมารดา เพื่อให้การดูแล และไม่ให้กระทบกับสติปัญญาของเด็ก เนื่องจากข้อมูลทางวิชาการพบว่าเด็กมีโอกาสเสี่ยงพัฒนาการด้อยร้อยละ 10 จึงได้สั่งการให้โรงพยาบาลทุกแห่งในพื้นที่ภาคใต้ ให้การดูแลหญิงตั้งครรภ์ทุกคนที่ป่วยเป็นโรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือชิคุนกุนยา เป็นกรณีพิเศษ และให้คำแนะนำหญิงตั้งครรภ์ทุกคนที่เป็นโรคไข้ปวดข้อยุงลาย ต้องไปพบแพทย์ เพื่อเฝ้าระวังไม่ให้แพร่เชื้อสู่ลูก ซึ่งอาการจะเกิดในเด็กทารกหลังคลอดประมาณ 3 วัน จะมีผื่นตามตัว ดังนั้นหากหญิงตั้งครรภ์อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์จะปลอดภัยกว่า
นายวิทยา กล่าวต่อไปว่า ในวันที่ 6 มิถุนายนนี้ จะประชุมสาธารณสุขจังหวัดภาคใต้ และทุกกรมที่เกี่ยวข้อง โดยจะระดมหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อยุติสถานการณ์ให้ได้ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ ส่วนแรงงานต่างด้าวตามแนวชายแดน ตัวเลขที่มีอาจจะมีเพียงครึ่งเดียวจากที่ป่วยจริง บางรายอาจไปตรวจและรักษาที่อื่นไม่ใช่สถานบริการสาธารณสุข สำหรับมาตรการในการป้องกันโรค เนื่องจากเดือนสิงหาคมมีโอกาสจะแพร่ระบาดมากยิ่งขึ้น เพราะเข้าสู่ฤดูฝน มีโอกาสแพร่ไปสู่ภาคอื่นได้ด้วย ได้มอบหมายให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เตรียมทำเอกสารเผยแพร่ 4 ภาษา ทั้งคนไทยและคนต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยต้องได้รับความรู้เท่าเทียมกัน แนวทางเบื้องต้นต้องหามาตรการป้องกันไม่ให้คนไทยที่อยู่ในพื้นที่ภาคใต้ถูกยุงกัดใน 3 เดือนนี้
สถานการณ์โรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือชิคุนกุนยา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 27 พฤษภาคม 2552 พบผู้ป่วยรวม 22,276 รายใน 28 จังหวัด ยังไม่พบผู้เสียชีวิต ระหว่างวันที่ 20-26 พฤษภาคม 2552 พบผู้ป่วยจาก 6 จังหวัด ได้แก่ ลำปาง สงขลา ปทุมธานี ชัยนาท นครศรีธรรมราช และกรุงเทพฯ โรคนี้พบผู้ป่วยทุกกลุ่มอายุ การระบาดครั้งนี้เป็นสายพันธุ์แอฟริกัน ซึ่งไม่เคยระบาดมาก่อน มีระยะฟักตัวประมาณ 2-3 วัน อาการสำคัญคือ มีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดข้อ พบบ่อยที่ข้อนิ้ว ข้อมือและข้อเท้า อาการปวดข้อส่วนใหญ่หายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่บางรายอาการปวดข้ออาจเป็นอยู่นานหลายสัปดาห์
************************************ 4 มิถุนายน 2552
View 15
04/06/2552
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ