กระทรวงสาธารณสุข เตรียมส่งนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ไทย ไปปฏิบัติงานการควบคุมมาตรฐานวัคซีนที่องค์การอนามัยโลก ซึ่งเป็นหน่วยควบคุมมาตรฐานคุณภาพวัคซีนที่ใช้ทั่วโลกเป็นเวลา 1-2 ปี เพื่อผลในการพัฒนาประสิทธิภาพวัคซีนในประเทศได้ตามมาตรฐานสากล โดยเฉพาะวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ที่จะผลิตในไทยจะได้มาตรฐานระดับโลก ส่งออกจำหน่ายให้ประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติได้ด้วย
นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในการเดินทางไปร่วมประชุมสมัชชาอนามัยโลกที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ 18-22 พฤษภาคม 2552 ได้หารือกับนายแพทย์แจน โอโค-เบเล่ (Dr. Jean Okwo-Bele) ผู้อำนวยการหน่วยวัคซีนและชีววัตถุ และนายแพทย์เดวิด วูด (David wood) ผู้ประสานด้านคุณภาพความปลอดภัยและมาตรฐานของวัคซีนขององค์การอนามัยโลก สำนักงานใหญ่ ประจำกรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ พร้อมด้วยนายแพทย์มานิต ธีรตันติกานนท์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อความร่วมมือในการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานของวัคซีนที่ใช้ในประเทศไทยและส่งออก ที่สำคัญคือวัคซีนโรคหัด วัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่กำลังจะผลิตในไทย โดยองค์การเภสัชกรรมและบริษัทเครือข่าย ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะทำหน้าที่ประกันคุณภาพมาตรฐานความปลอดภัย และขึ้นทะเบียนที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
นายวิทยากล่าวว่า ผลการหารือ นายแพทย์โอโค-เบเล่ ยินดีให้การสนับสนุนไทย โดยจะให้นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ไปปฏิบัติงานเป็นการประจำที่หน่วยควบคุมกำหนดมาตรฐานวัคซีนขององค์การอนามัยโลก เปรียบเสมือนเป็นเจ้าหน้าที่คนหนึ่ง เพื่อทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานวัคซีนของโลก และดูแลควบคุมกำกับระบบประกันคุณภาพวัคซีนของประเทศต่างๆ ในเบื้องต้นจะส่งไปอย่างน้อย 1 คน เริ่มในต้นปี 2553 ทำงานเป็นเวลา 1-2 ปี สิ่งที่ไทยจะได้ครั้งนี้ จะทำให้การผลิตและควบคุมคุณภาพมาตรฐานของวัคซีนของไทยมีประสิทธิภาพและมาตรฐานสูงขึ้น รวมทั้งสามารถขยายผลการควบคุมกำกับคุณภาพวัคซีน ซึ่งไทยเป็นศูนย์กลางควบคุมกำกับมาตรฐานวัคซีน ขององค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และภูมิภาคใกล้เคียงด้วย จะเป็นประโยชน์ในการป้องกันโรคระบาดสำคัญต่อประชากรในภูมิภาคกว่า 1,000 ล้านคน
ทางด้านนายแพทย์มานิต ธีรตันติกานนท์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีหน้าที่เป็นห้องปฏิบัติการภาครัฐในการควบคุมคุณภาพวัคซีนที่ใช้ในประเทศ ทั้งที่ผลิตเอง นำเข้า และส่งออกกว่า 10 ชนิด เช่น วัคซีนที่ใช้ในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค วัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ฯลฯ โดยเรามีห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน เป็นห้องปฏิบัติการอ้างอิงขององค์การอนามัยโลก ในการประกันคุณภาพวัคซีนที่จำหน่ายให้องค์การสหประชาชาติ ประโยชน์ครั้งนี้ นอกจากจะเป็นผลดีต่อการผลิตวัคซีนในประเทศที่จะได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก เพื่อจำหน่ายให้ประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติ รวมทั้งวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ทั้งชนิดที่เกิดตามฤดูกาลและไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช 1เอ็น 1 ด้วย โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณ 5 ล้านบาทต่อปี ซึ่งถือว่าคุ้มค่ามาก เพราะประโยชน์ที่ได้สูงมาก โดยเฉพาะการป้องกันชีวิตคนให้ปลอดภัยจากโรคติดเชื้อต่างๆ
************************ 19 พฤษภาคม 2552
View 17
19/05/2552
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ