สาธารณสุข ติวเข้มทุกจังหวัด ปรับยุทธศาสตร์เตรียมรับมือโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ(H1N1) หากเกิดระบาดในประเทศ เน้นประชาชนป้องกันตนเอง ไม่ตื่นตระหนก การใช้มาตรการการควบคุมการระบาด โดยลดการแพร่เชื้อจากผู้ป่วยไปสู่สมาชิกในครอบครัว หรือเพื่อนร่วมงาน รวมถึงโรงเรียน เป็นต้น พร้อมแนะเผด็จศึกชิคุนกุนยาไม่ยาก หากชาวบ้าน และอบต. ใส่ใจกำจัดลูกน้ำและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ทั้งในบ้านและในสวนทุก 7 วัน
วันนี้(19 พฤษภาคม 2552) ที่โรงแรมอมารี แอร์พอร์ต กรุงเทพฯ นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ /โรงพยาบาลทั่วไป ผู้อำนวยการสำนักงานควบคุมโรคติดต่อ เพื่อติดตาม รับฟังความก้าวหน้า และมอบนโยบาย การเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอ็ช1 เอ็น1 และโรคชิคุนกุนยา
นายมานิต กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกรายงานเมื่อเช้าวันนี้(19 พฤษภาคม 2552) ตามเวลาในประเทศไทยว่า มีผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อ 40 ประเทศ รวมผู้ป่วยทั้งสิ้น 8,829 ราย เสียชีวิต 74 ราย (เม็กซิโก 68 ราย สหรัฐอเมริกา 4 ราย แคนาดา 1 ราย และคอสตาริกา 1 ราย) ประเทศที่รายงานผู้ป่วยรายแรกในวันนี้ ได้แก่ ประเทศชิลี ส่วนประเทศไทยคงมีผู้ป่วยยืนยัน 2 รายเท่าเดิม และวันนี้มีผู้ป่วยในข่ายเฝ้าระวัง 21 ราย
นายมานิต กล่าวต่อไปว่า แม้ว่าขณะนี้ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ที่พบ จะมีความรุนแรงน้อยกว่าช่วงแรกที่พบการระบาด โดยมีลักษณะการระบาดคล้ายกันกับไข้หวัดใหญ่ที่พบตามฤดูกาลเป็นประจำทุกปี ผู้ป่วยส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง ไม่ต้องนอนรักษาในโรงพยาบาล ส่วนผู้ป่วย 4 รายที่เสียชีวิตในอเมริกาและแคนาดานั้น พบว่ามีโรคเรื้อรังประจำตัว เช่น โรคหัวใจ เป็นต้น แต่เชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่นี้ประชาชนทั่วโลกยังไม่มีภูมิต้านทาน จึงมีโอกาสติดเชื้อได้ และการระบาดจะแพร่กระจายไปทั่วโลก ดังนั้นทุกประเทศรวมถึงไทยด้วย ต้องเตรียมความพร้อมรับการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ที่เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่
กระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินมาตรการป้องกันควบคุมเน้น 4 มาตรการ มาอย่างต่อเนื่อง คือ 1.การสกัดกั้น ป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่เข้ามาภายในประเทศ 2.การเฝ้าระวัง ค้นหาผู้ป่วยโดยเร็วและควบคุมโรค 3.การดูแลรักษาผู้ป่วย ให้การวินิจฉัยรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ และ4.การเตรียมความพร้อมวงกว้าง การเผยแพร่ให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจ สามารถป้องกันตนเองได้ ไม่ตื่นตระหนก
การเพิ่มความพร้อมรับการระบาด จะเน้นการจัดทำแผนปฏิบัติการเตรียมความพร้อมของทุกภาคส่วน การพัฒนาขีดความสามารถหลักของประเทศตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ ค.ศ. 2005 ทั้งด้านการเฝ้าระวังสอบสวนโรคและด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศ ในการจัดการโรคติดต่อที่เป็นปัญหาระดับโลก รวมทั้งการสื่อสารให้ประชาชนสามารถป้องกันตนเอง ครอบครัวและชุมชนได้โดยไม่ตื่นตระหนก การสำรองยาต้านไวรัส วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ชุดป้องกันร่างกายจากการติดเชื้อ ที่สำคัญจะเน้นการส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาพอนามัยและพฤติกรรมป้องกันโรค และการใช้มาตรการการควบคุมการระบาด โดยลดการแพร่เชื้อจากผู้ป่วยไปสู่สมาชิกในครอบครัว หรือเพื่อนร่วมงาน รวมถึงโรงเรียน เป็นต้น
ทางด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การป้องกันและควบคุมโรคชิคุนกุนยาที่กำลังเป็นปัญหาสาธารณสุขขณะนี้ มั่นใจว่าจะสามารถควบคุมโรคนี้ หากชาวบ้าน อบต. ร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทั้งในบ้านและในสวน โดยเฉพาะสวนยาง ทุก 7 วัน เพื่อไม่ให้ยุงวางไข่ เนื่องจากยุงลายที่เป็นพาหะจะอาศัยอยู่ตามกะลา ยางรถยนต์ บริเวณในสวนโดยเฉพาะสวนยางใน 14 จังหวัดภาคใต้ โดยแนะนำให้ชาวบ้าน และอบต .ซึ่งเป็นปัจจัยชี้ขาดในการควบคุมโรคนี้ได้หรือไม่ได้ ช่วยกันวางกฎเกณฑ์ในหมู่บ้าน โดยช่วยกันสำรวจลูกน้ำยุงลายและทำลายทุก 7 วัน หากพบบ้านไหนมีลูกน้ำช่วยกันแนะนำ ตักตือน หากทำได้ทั้งในบ้านและนอกบ้าน และดำเนินการเข้มข้นทุกจุด ตั้งแต่หมู่บ้าน ชุมชน จะช่วยป้องกันทั้งโรคไข้เลือดออกและโรคชิคุนกุนยา ได้อย่างแน่นอน
สถานการณ์โรคชิคุนกุนยา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 12 พฤษภาคม 2552 พบผู้ป่วยเข้ารักษาในโรงพยาบาลแล้ว 18,435 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในภาคใต้ จังหวัดที่มีผู้ป่วยสูงสุดได้แก่ สงขลา 7,310 ราย รองลงมา ได้แก่ นราธิวาส 6,450 ราย ปัตตานี 2,942 ราย ยะลา 1,539 ราย ตรัง 95 ราย สตูล 57 ราย และพัทลุง 12 ราย
************************************** 19 พฤษภาคม 2552
View 14
19/05/2552
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ