กระทรวงสาธารณสุข พัฒนาสถานีอนามัย 2,000 แห่ง เป็นโรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพประชาชนในตำบล ให้มีสุขภาพดี โดยจะเพิ่มบุคลากรจากที่มีอยู่เดิมอีก 2- 4 เท่าตัว มีระบบการเยี่ยมผู้ป่วยที่บ้าน และระบบการตรวจคัดกรองหาผู้ป่วยโรคเรื้อรังรายใหม่ การแพทย์ฉุกเฉิน และบริการการปรึกษาทางไกล คาดหวังลดการเจ็บป่วยประชาชน ลดความแออัดผู้ป่วยในโรงพยาบาลได้ วันนี้(15พฤษภาคม2552)ที่โรงแรมทวิน โลตัส จ.นครศรีธรรมราช นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แพทย์หญิงศิริพร กัญชนะ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและคณะ ประชุมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป/โรงพยาบาลชุมชน สาธารณสุขอำเภอ หัวหน้าสถานีอนามัย ในเขต 14 จังหวัดภาคใต้รวมกว่า 500 คน เพื่อชี้แจงนโยบายการพัฒนาโรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพตำบล(รสต.) ซึ่งในปี 2552-2553 นี้ กระทรวงสาธารณสุขจะคัดเลือกสถานีอนามัยที่มีความพร้อม เริ่มดำเนินการก่อนจำนวน 2,000 แห่ง กระจายทุกจังหวัดและทุกอำเภอ วัตถุประสงค์สำคัญเพื่อลดจำนวนการเจ็บป่วยของประชาชน บรรเทาปัญหาผู้ป่วยแน่นแออัดในโรงพยาบาลได้ นายวิทยา กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าขณะนี้ความต้องการบริการสุขภาพมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามจำนวนและโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งการมีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประชาชนเข้าถึงบริการมากขึ้น เกิดความแน่นแออัดในโรงพยาบาลทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยที่ต้องนอนรักษาในโรงพยาบาล เช่น โรงพยาบาลศูนย์ มีผู้ป่วยเข้าตรวจรักษาวันละ 2,000-3,000 คน บางแห่งขยายบริการนอกเวลาราชการแล้ว ก็ยังบรรเทาปัญหาไม่ได้ เฉพาะสถานีอนามัยซึ่งเป็นหน่วยบริการขั้นต้น ระดับตำบลใกล้ชิดประชาชนที่สุด มีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 40 จึงต้องปรับยุทธศาสตร์การบริหารจัดการใหม่ โดยพัฒนาให้มีโรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพตำบลขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่หลักคือสร้างสุขภาพดีให้ประชาชน ลดจำนวนคนป่วยให้มีน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ รวมทั้งลดปัญหาแทรกซ้อนในผู้ที่ป่วยแล้วไม่ให้กำเริบรุนแรง โดยทำงานควบคู่กับพลังอสม.อีกกว่า 900,000 คน มั่นใจว่าการเปิดทัพหน้า ทำงานเชิงรุกสร้างสุขภาพดีให้ประชาชนครั้งนี้ จะสามารถแก้ปัญหาผู้ป่วยแน่นแออัดในโรงพยาบาลได้ ด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การพัฒนาโรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพในตำบลครั้งนี้ จะคัดเลือกสถานีอนามัยที่มีความพร้อมจากที่มีทั้งหมด 9,810 แห่ง โดยเพิ่มบุคลากรจากที่มีเฉลี่ย 2.9 เพิ่มอีก 2-4 เท่าตัว โดยแบ่งเป็น 3 ขนาด ได้แก่ ขนาดเล็ก มีเจ้าหน้าที่ 5 คน ดูแลประชากรไม่เกิน 3,000 คน ขนาดกลางมีเจ้าหน้าที่ 7 คน ดูแลประชาชนไม่เกิน 6,000 คน และขนาดใหญ่ มีเจ้าหน้าที่ 9-10 คนดูแลประชาชน มากกว่า 6,000 คน ทั้งนี้ จะมีการปรับปรุงโครงสร้างอาคาร เช่น ต่อเติมชั้นล่างเป็นห้องตรวจรักษา มีเตียงสังเกตอาการ อย่างน้อย 3 เตียง มีระบบการสื่อสารกับโรงพยาบาลแม่ข่าย มีรถออกเยี่ยมบ้าน เพิ่มพยาบาลเวชปฎิบัติทำหน้าที่ตรวจรักษาโรคพื้นฐาน อย่างน้อย 1 คน ให้บริการครอบคลุมทั้งการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค รักษาพยาบาล รวมทั้งระบบส่งต่อกรณีเกินขีดความสามารถ มีบริการให้คำปรึกษาทางไกล ระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ยาและเวชภัณฑ์ต่างๆ เช่นเดียวกับโรงพยาบาล เชื่อมั่นว่าประชาชนจะได้ประโยชน์ในการพัฒนาครั้งนี้เป็นอันมาก โดยจะให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการด้วย


   
   


View 10    15/05/2552   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ