สาธารณสุข เผยปีนี้ ทั่วประเทศพบไข้เลือดออกแล้ว 6,732 ราย เสียชีวิต 8 ราย ผู้ป่วยร้อยละ 50 อยู่ในภาคกลาง รองลงมาคือภาคใต้ ส่วนกรุงเทพมหานครพบ 1,036 ราย ชี้ทุกคนมีสิทธิ์ป่วยหากถูกยุงมีเชื้อกัด เร่งรณรงค์ให้ประชาชนทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ลดปริมาณยุงลงให้มากที่สุดก่อนเข้าสู่ฤดูกาลระบาดในฤดูฝน นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังเปิดรณรงค์ไข้เลือดออกของจังหวัดสุโขทัย ในปี 2552 ที่โรงเรียนสุโขทัยวิทยาคม อ.เมือง จ.สุโขทัย เมื่อบ่ายวันนี้ (1 พฤษภาคม 2552) ว่า โรคไข้เลือดออกเป็นโรคที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค ในปีนี้ ตั้งแต่ เดือนมกราคม ถึงวันที่ 18 เมษายน ทั่วประเทศพบผู้ป่วยไข้เลือดออกแล้ว 6,732 ราย เสียชีวิต 8 ราย ซึ่งจำนวนผู้ป่วยปีนี้น้อยกว่าปี 2551 ร้อยละ 32 ภาคที่พบผู้ป่วยมากที่สุดได้ภาคกลาง จำนวน 3,415 ราย คิดเป็นร้อยละ 50 ของผู้ป่วยทั้งหมด รองลงมาคือภาคใต้ จำนวน 2003 ราย ภาคเหนือ 836 ราย น้อยสุดที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 478 ราย ส่วนกรุงเทพมหานคร 1,036 ราย เมื่อเทียบจำนวนผู้ป่วยกับจำนวนประชากรแต่ละจังหวัดทุก 1 แสนคน จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุดในประเทศ 3 จังหวัดได้แก่ สงขลาป่วยแสนละ 672 ราย ปัตตานีแสนละ 235 ราย และสมุทรปราการแสนละ 423 ราย นายมานิต กล่าวต่อว่า ก่อนจะเข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งเป็นฤดูระบาดของโรคไข้เลือดออกปีนี้ ได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัด เร่งทำงานเชิงรุก ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ลงพื้นที่ให้ความรู้ประชาชน ในการป้องกันควบคุมโรค โดยรณรงค์ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายให้มากที่สุด เน้นหนักที่ 3 แหล่งใหญ่คือโรงเรียน บ้าน และในชุมชน อย่างต่อเนื่องทุก 7 วัน ส่วนในด้านการรักษา ได้ให้สถานบริการสาธารณสุขตรวจสอบประวัติผู้ป่วยอย่างละเอียด และให้การรักษาโดยเร็ว ซึ่งจะป้องกันการเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ยังประสานคลินิกเอกชน ร้านขายยาทุกแห่ง ร่วมเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังโรค ซึ่งคาดว่าจะทำให้การป้องกันและควบคุมโรคมีประสิทธิภาพสูงขึ้น นายมานิต กล่าวว่า การพ่นสารเคมีกำจัดยุงลายนั้นเป็นการป้องกันชั่วคราว ไม่ทำให้ยุงตายหมดเพียง 3-4 วัน ยุงก็จะกลับมาใหม่ ถ้าพ่นบ่อยเกินไปยุงก็จะดื้อยา เกิดภาวะโรคร้อน สำคัญที่สุดคือประชาชนทุกคน มีสิทธิ์ป่วยหากถูกยุงลายมีเชื้อกัด จึงต้องช่วยกันดูแลบ้านเรือนและชุมชนของตนเอง ไม่ให้มีแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย โดยใช้หลักปราบยุงลาย 4 ป. คือ ปิดฝาโอ่งให้สนิท เปลี่ยนน้ำในถังและแจกันทุก 7 วัน ปล่อยปลากินลูกน้ำในอ่างเลี้ยงบัว และปรับปรุงสิ่งแวดล้อมให้สะอาด เพียงเท่านี้ก็จะไม่มียุงลายเกิดขึ้น เมื่อไม่มียุงลาย ก็จะไม่มีไข้เลือดออก ด้านนายแพทย์บุญเติม ตันสุรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุโขทัยกล่าวว่า ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกขณะนี้ พบได้ทุกวัย ไม่ใช่เป็นโรคที่เกิดเฉพาะเด็กอีกต่อไป อาการโรคจะมีไข้สูงเฉียบพลัน ร่วมกับเบื่ออาหาร หน้าแดง ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน และอาจมีอาการปวดท้องร่วมด้วย บางรายอาจมีจุดเลือดสีแดงขึ้นตามลำตัว แขน ขา อาจมีเลือดกำเดาออก หรือเลือดออกตามไรฟัน และถ่ายอุจาระดำเนื่องจากมีเลือดออก ในรายที่มีอาการช็อค ซึ่งมักจะเกิดในช่วงที่ไข้ลดลง โดยทั่วไปผู้ป่วยจะรู้สึกสดชื่นขึ้น แต่รายที่ช็อคมักจะมีอาการซึมลง ตัวเย็น หมดสติและเสียชีวิตได้ ในช่วงนี้หากพบญาติหรือคนใกล้ชิดมีไข้สูง ให้เช็ดตัวด้วยน้ำอุ่น และให้กินยาพาราเซตามอลเพื่อลดไข้ ห้ามกินยาแอสไพรินลดไข้เป็นอันขาด เนื่องจะทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ง่าย หรือทำให้มีเลือดออกที่อวัยวะภายในมากขึ้น เสียชีวิตง่ายขึ้น ที่ดีที่สุดคือควรรีบไปพบแพทย์ โดยในปีนี้ตั้งแต่ มกราคม 2552 จนถึงวันนี้จังหวัดสุโขทัยพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก31ราย ไม่มีผู้ป่วยเสียชีวิต ***************************************** 1 พฤษภาคม 2552


   
   


View 18    01/05/2552   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ