ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมผู้บริหาร แพทย์พยาบาล ทีมแพทย์กู้ชีพ หน่วยกู้ภัย กว่า 1000 คนทั่วประเทศ เตรียมความพร้อมรองรับภัยพิบัติและสาธารณภัยที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกขณะ เน้นทุกหน่วยงานจัดซ้อมแผน ปิดช่องว่างอุปสรรคการบริหารจัดการ เพื่อให้ผู้ประสบภัยได้รับการช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว ปลอดภัย
วันนี้ (27 เมษายน 2552) ที่โรงแรมไดมอนด์พลาซ่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมสัมมนาวิชาการระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินระดับชาติ ครั้งที่ 3 พัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน รับเหตุสาธารณภัย (EMS National Forum : EMS and Disaster management) โดยมีผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุข สาธารณสุขนิเทศก์ ผู้ช่วยผู้ตรวจราชการ ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติระดับเขต นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ผู้รับผิดชอบงานระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินของทุกจังหวัด ตลอดจนผู้แทนสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ผู้แทนองค์การบริหารส่วนจังหวัด เข้าร่วมประชุมกว่า 1,000 คน พร้อมทั้งมอบโล่รางวัลหน่วยกู้ชีพดีเด่นระดับเขตจำนวน 46 แห่ง และรางวัลนเรนทร (Narendhorn Award) แก่มูลนิธิที่ส่งเสริม สนับสนุนและช่วยเหลือสังคมด้านระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน โดยไม่หวังผลกำไร 3 แห่ง ได้แก่ ร่วมกตัญญู ป่อเต็กตึ้ง และศูนย์เอราวัณ
นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวว่า ขณะนี้หลายประเทศประสบปัญหาภัยพิบัติจากธรรมชาติถี่ขึ้น องค์การอนามัยโลกรายงานในปีที่ผ่านมา ทั่วโลกมีภัยธรรมชาติเกิดขึ้น 321 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต 2 แสนกว่าราย และบาดเจ็บจำนวนมาก เป็นที่น่าสังเกตว่าการเสียชีวิตนั้นเพิ่มจาก 7 ปีที่ผ่านมากกว่า 4 เท่าตัว แสดงถึงความรุนแรงของเหตุการณ์ เฉพาะไฟไหม้อย่างเดียวทำให้มีคนเสียชีวิตปีละ 300,000 คน ทั้งหมดนี้จัดเป็นภัยฉุกเฉินที่ฝ่ายการแพทย์ต้องเตรียมพร้อมรับมือ เพื่อลดความสูญเสียและช่วยเหลือผู้ประสบภัยให้มีความปลอดภัยมากที่สุด
นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวต่อว่า ในส่วนการช่วยเหลือผู้ประสบภัยของไทยนั้น ที่ผ่านมาการปฏิบัติงานยังคงมีความสับสนและปัญหาอุปสรรคในการบริหารจัดการ เช่น การควบคุมฝูงชน การจัดการด้านความปลอดภัย การประสานและการสั่งการ การสื่อสาร การดูแลรักษา การจัดการจราจร การขนย้ายลำเลียง ระบบการส่งต่อ ระบบข้อมูล การพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล เป็นต้น ได้มอบนโยบายให้ผู้รับผิดชอบมีการทบทวน และหารูปแบบการบริหารจัดการที่กระชับ เข้าใจง่าย ปฏิบัติได้รวดเร็วและเป็นสากล เพื่อให้ง่ายต่อการระดมทรัพยากรเข้าไปในพื้นที่เกิดเหตุ โดยมีรูปแบบการทำงานที่เหมือนกัน ซึ่งจะช่วยให้การปฏิบัติงานเป็นระบบยิ่งขึ้น ที่สำคัญจะต้องมีการซักซ้อมการปฏิบัติตามแผนร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้มีจุดบอดเกิดขึ้น ซึ่งจะทำให้ผู้บาดเจ็บได้รับการช่วยเหลืออย่างรวดเร็วและถูกวิธี
ด้านนายแพทย์ชาตรี เจริญชีวะกุล เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวว่า ในการประชุมวิชาการครั้งนี้ มีการนำเสนอผลงานวิชาการ ทั้งหมด 34 เรื่อง ได้แก่ การพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ที่เน้นเรื่องการมีส่วนร่วมของท้องถิ่น (อปท.) และผลงานวิจัยด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ที่จะนำไปใช้ในการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินได้จริง ซึ่งจะตัดสินภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม
************************************ 27 เมษายน 2552
View 10
27/04/2552
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ