กระทรวงสาธารณสุข พร้อมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลผู้บาดเจ็บจากเหตุชุมนุม 135 รายของโรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชน 12 แห่ง โดยจะใช้งบจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และทำหนังสือขอบคุณหน่วยงาน/มูลนิธิทุกแห่ง ที่ร่วมให้ความช่วยเหลือในการดูแลผู้บาดเจ็บอย่างดี ทั้งที่จุดเกิดเหตุและที่โรงพยาบาล ขณะเดียวกันกรมสุขภาพจิตเปิดสายด่วน 1323 ให้บริการปรึกษา 24 ชั่วโมง และส่งทีมออกเยียวยาสุขภาพใจแก่ผู้บาดเจ็บและชุมชนที่ได้รับผลกระทบ เริ่มวันนี้เป็นต้นไป นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยความคืบหน้าการดูแลผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุชุมนุม ว่า ขณะนี้คงมียอดผู้ป่วย 135 รายเท่าเดิม ซึ่งค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลรัฐและเอกชนทั้ง 12 แห่ง ที่รับผู้ป่วยไว้ดูแล ได้แก่ โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลทหารผ่านศึก โรงพยาบาล หัวเฉียว โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า วชิระพยาบาล โรงพยาบาลตำรวจ โรงพยาบาลคามิลเลียน โรงพยาบาลบางกอก 9 อินเตอร์ สถาบันประสาทวิทยา และโรงพยาบาลเดชา กระทรวงสาธารณสุขจะเป็นผู้รับผิดชอบดูแลทั้งหมด โดยใช้งบประมาณจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยในวันนี้ (16 เมษายน 2552) ได้ทำหนังสือขอบคุณหน่วยงานต่างๆ ทั้งโรงพยาบาลรัฐในสังกัด นอกสังกัด และโรงพยาบาลเอกชน ตลอดจนมูลนิธิ/หน่วยกู้ภัย ที่ให้ความร่วมมือช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุชุมนุมครั้งนี้อย่างดี ทำให้ผู้บาดเจ็บทุกรายได้รับการช่วยเหลืออย่างรวดเร็วและปลอดภัย โดยรายชื่อผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตทั้งหมด สามารถตรวจสอบได้ที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ของกระทรวงสาธารณสุข นายวิทยา กล่าวต่อไปว่า สำหรับผู้ป่วยของโรงพยาบาลราชวิถี 1 ราย ที่ได้มีการประสานขอย้ายไปยังโรงพยาบาลพระราม 9 ได้แก่ นายวิเชียร ขีดกลาง ซึ่งได้รับบาดเจ็บที่ขาทั้ง 2 ข้างนั้น แพทย์ของโรงพยาบาลราชวิถีได้ให้การดูแลอย่างดีจนอาการพ้นขีดอันตราย และสามารถย้ายออกจากห้องไอซียูได้แล้วเมื่อช่วงเช้าวันนี้ ซึ่งการย้ายโรงพยาบาลครั้งนี้ เป็นไปตามความสมัครใจของผู้ป่วยและญาติเอง และแพทย์ของโรงพยาบาลราชวิถี พิจารณาแล้วเห็นว่าจะไม่เป็นอันตรายกับผู้ป่วย ทางด้านนายแพทย์ชาตรี บานชื่น อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ในวันนี้กรมสุขภาพจิตได้ประชุมผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกรม เพื่อวางแผนเยียวยาผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ชุมนุม รวมทั้งชุมชนที่ได้รับผลกระทบ ในเบื้องต้นได้จัดทีมทั้งหมด 6 ทีม ประกอบด้วย จิตแพทย์ นักจิตวิทยา พยาบาล โดยจะประสานทำงานร่วมกับทีมสุขภาพจิตของโรงพยาบาล 12 แห่งที่มีผู้ป่วยอยู่ขณะนี้ รวมทั้งทีมสุขภาพจิตในชุมชน ออกเยี่ยมเยียนไต่ถามทุกข์สุขทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต เพื่อการรักษาที่ต่อเนื่อง เริ่มวันนี้เป็นต้นไป นายแพทย์ชาตรี กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันกรมสุขภาพจิตได้เปิดสายด่วน 1323 ในโรงพยาบาลสังกัดกรมสุขภาพจิต 17 แห่งทั่วประเทศ ให้บริการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบตลอด 24 ชั่วโมง และตั้งศูนย์ปฏิบัติการข้อมูลการเยียวยาทางจิตใจแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุม ซึ่งจะติดตามข้อมูลข่าวสาร วิเคราะห์สถานการณ์ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติตอบสนองปัญหาได้ทันท่วงที ************************************ 16 เมษายน 2552


   
   


View 11    16/04/2552   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ