โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ชี้สภาพอากาศร้อนจัด เสี่ยงคนไทยเกิดโรค “ฮีทสโตรก” หรือโรคลมแดดชนิดที่ไม่มีเหงื่อออก ผู้ที่ต้องระวังเป็นพิเศษคือ ผู้สูงอายุ เด็ก คนอดนอน ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง โดยเฉพาะคอทองแดง ควรละซดเหล้า โรคนี้อันตรายสุด เมื่อเป็นแล้วโอกาสเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 70 แนะดื่มน้ำมากๆ ให้ถึงวันละ 2 ลิตร เพื่อป้องกัน นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้สภาพอากาศในประเทศไทยร้อนมาก อันเป็นผลพวงมาจากสภาวะโลกร้อน ทำให้ประชาชนไทยเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยหลายโรค ที่กระทรวงสาธารณสุขเป็นห่วง และให้ทุกจังหวัดดำเนินการป้องกันอย่างเข้มงวดในขณะนี้คือ โรคระบบทางเดินอาหาร ซึ่งมักพบบ่อย เกิดจากการรับประทานอาหารและน้ำที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนเข้าไป แต่โรคที่ยังมีการพูดถึงกันน้อยมากคือ โรคลมแดด ซึ่งเกิดในช่วงที่สภาพอากาศร้อนจัด ทางการแพทย์เรียกว่า ฮีทสโตรก (Heat stroke) เป็นภาวะวิกฤติของร่างกายที่ไม่สามารถควบคุมระดับความร้อนภายในร่างกายได้ มีข้อมูลในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา มีประชาชนเสียชีวิตจากสาเหตุนี้ปีละประมาณ 400 คน ในประเทศไทยยังไม่เคยมีรายงานใครเสียชีวิต นายแพทย์สุพรรณ กล่าวว่า อาการผิดปกติที่เกิดจากความร้อนมีหลายระดับ ตั้งแต่ระดับที่ไม่เป็นอันตราย ที่รู้จักกันทั่วไปคือ เป็นลม มีอาการมืดหน้า เป็นตะคริว แต่ที่อันตรายที่สุดคือ การเป็นลมแดด ซึ่งเป็นอาการที่เกิดจากการได้รับความร้อนเป็นเวลานาน สามารถเกิดขึ้นได้ในผู้ที่มีร่างกายแข็งแรง จัดเป็นความผิดปกติที่มีความรุนแรงมากที่สุด ทำให้สมองไม่ทำงาน จึงไม่สามารถควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆ ได้ รวมทั้งสูญเสียความสามารถในการควบคุมอุณหภูมิร่างกายด้วย อาการสำคัญของโรคนี้ ได้แก่ ตัวร้อนจัด เพ้อ หรือหมดสติ ชีพจรเต้นเร็ว ความดันเลือดลดลง ช็อก โดยผิวหนังจะแห้งและร้อน ไม่มีเหงื่อออก ผู้ที่เป็นจะกระหายน้ำมาก ระดับความรู้สึกตัวลดลง การทำงานของอวัยวะต่างๆ ล้มเหลว กระสับกระส่าย เอะอะ ก้าวร้าว เกร็ง ชัก หมดสติ อาการต่างจากการเพลียแดดทั่วๆ ไป ซึ่งจะพบว่ามีเหงื่อออกด้วย ทั้งนี้ หลังจากที่ได้ร่างกายได้รับความร้อน กลไกการทำงานของร่างกาย จะมีการปรับตัวโดยส่งน้ำหรือเลือดไปเลี้ยงอวัยวะภายใน เช่น สมอง ตับ และกล้ามเนื้อ เป็นต้น ทำให้ผิวหนังขาดเลือดและน้ำไปหล่อเลี้ยง จึงไม่สามารถระบายความร้อนออกจากร่างกายได้ ทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น ตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อยๆ เกิน 40 องศาเซลเซียส ถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องให้การรักษาอย่างรีบด่วน เนื่องจากมีโอกาสเสียชีวิต 17-70 เปอร์เซ็นต์ หากเกิดอาการดังกล่าวต้องหยุดพักทันที จากการเฝ้าระวังในประเทศไทยในช่วงปี 2546-2550 พบผู้ป่วย 2 ราย เป็นผู้ใช้แรงงานที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาและจังหวัดลำปาง แพทย์ช่วยชีวิตได้ทัน นายแพทย์สุพรรณ กล่าวต่อว่า การช่วยเหลือผู้ที่มีอาการเป็นลมแดด ให้นอนราบ ยกเท้าสูงทั้งสองข้าง เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือด ถอดเสื้อผ้าออก ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามซอกคอ ตัว รักแร้ เชิงกราน ศีรษะ ร่วมกับการใช้พัดลมช่วยเป่าระบายความร้อน หรือเทน้ำเย็นราดลงบนตัวเลย เพื่อลดอุณหภูมิของร่างกายให้ต่ำลง และรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด ในรายที่อาการยังไม่มาก ควรให้ดื่มน้ำเปล่ามากๆ ทั้งนี้ ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงเป็นโรคฮีทสโตรก ได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุ เนื่องจากร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้ดีเท่าคนหนุ่มสาว ผู้ที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูงที่ต้องกินยาควบคุมความดัน เช่น ยาขับปัสสาวะ ซึ่งมีผลขับสารโซเดียมออกจากร่างกาย ทำให้มีโอกาสเกิดความผิดปกติของระดับเกลือแร่ได้เร็วกว่าผู้อื่น รวมทั้งผู้ที่เป็นโรคอ้วน หรือผู้ที่อดนอน ก็มีโอกาสเกิดโรคฮีทสโตรกได้ เนื่องจากจะทำให้ร่างกายตอบสนองต่อความร้อนที่ได้รับช้ากว่าปกติ ที่สำคัญคือ ผู้ที่ดื่มเหล้าหรือเบียร์ในขณะที่สภาพอากาศร้อน จะมีผลทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่สูงกว่าคนที่ไม่ได้ดื่ม เนื่องจากการขับแอลกอฮอล์ออกจากร่างกาย นายแพทย์สุพรรณ กล่าวอีกว่า สาเหตุที่คนอ้วนเสี่ยงเป็นโรคฮีทสโตรกได้ เนื่องจากบริเวณผิวหนังของคนอ้วนจะมีไขมันใต้ผิวหนังมาก เปรียบเสมือนเป็นฉนวนกันความร้อน ทำให้คนอ้วนสามารถเก็บความร้อนได้ดี แต่การระบายความร้อนออกจากร่างกายทำได้น้อยกว่าคนทั่วๆ ไป จึงเกิดปัญหาได้ง่าย วิธีป้องกันอันตรายจากโรคฮีทสโตรก ในช่วงที่มีอากาศร้อน ประชาชนต้องดื่มน้ำสะอาดให้มากๆ ควรดื่มให้ได้วันละ 2 ลิตร หากทำงานในที่ร่ม ควรดื่มให้ได้อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว เพื่อให้ร่างกายปรับตัวสู้กับอากาศร้อนได้ เนื่องจากน้ำเป็นตัวควบคุมอุณหภูมิร่างกาย ให้อยู่ในระดับปกติคือ 37 องศาเซลเซียส ในการสังเกตว่าร่างกายได้รับน้ำเพียงพอหรือไม่ ให้สังเกตง่ายๆ จากสีของน้ำปัสสาวะ ถ้าเป็นสีเหลืองจางๆ แสดงว่าได้รับน้ำเพียงพอ ถ้าปัสสาวะเป็นสีเหลืองเข้มหรือปัสสาวะออกน้อย แสดงว่าดื่มน้ำไม่เพียงพอ สำหรับผู้ที่ออกกำลังกายในช่วงที่มีอากาศร้อน สามารถกระทำได้ แต่ต้องค่อยเป็นค่อยไป ************************************29 มีนาคม 2552


   
   


View 16    29/03/2552   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ