รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สั่งกองการประกอบโรคศิลปะ เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงโรงพยาบาลเอกชนย่านรังสิต หลังปฏิเสธรักษาหญิงครรภ์แฝดที่มีปัญหาน้ำคร่ำแตกจนลูกในครรภ์เสียชีวิต พร้อมกำชับรพ.ในสังกัดทุกแห่งดูแลผู้ป่วยในภาวะฉุกเฉินทุกรายอย่างดีที่สุด จนพ้นภาวะวิกฤต ไม่ให้ปฏิเสธการรักษา และให้ความสำคัญกับการให้ข้อมูล คำแนะนำแก่ผู้ป่วยและครอบครัวให้เข้าใจ เกี่ยวกับกรณีนางวรรณา พ่อครวงศ์ ได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อการปฏิบัติหน้าที่ของแพทย์พยาบาล โรงพยาบาลเอกชนชื่อดังย่านรังสิต ที่ฝากครรภ์ตามสิทธิประกันสังคมมาโดยตลอด แต่ปฏิเสธการรักษา เนื่องจากตั้งครรภ์ลูกแฝดอายุครรภ์ 6 เดือน มีอาการน้ำเดิน โดยโรงพยาบาลแจ้งว่ามีค่าใช้จ่ายสูงถึง 100,000 บาท เกรงว่าจะไม่มีเงินจ่าย และแนะนำให้ไปรักษาที่โรงพยาบาลภูมิพลแทน เป็นเหตุให้ทารกแฝดในครรภ์เสียชีวิต เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2552 ที่ผ่านมา ความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าว วันนี้ (20 มีนาคม 2552) นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า เหตุการณ์ดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้นในสังคมไทย ได้สั่งการให้กองการประกอบโรคศิลปะ เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงและรายงานผลโดยเร็วที่สุด เพื่อให้ความเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย ขณะเดียวกันจะประสานกับแพทยสภา สภาการพยาบาล ซึ่งมีหน้าที่ดูแลด้านจรรยาแพทย์ พยาบาลโดยตรง ให้กำชับเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นสำคัญ และให้นำกรณีนี้มาเป็นบทเรียนปรับปรุงการให้บริการ โดยได้กำชับแพทย์ พยาบาล โรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่ง ให้ดูแลผู้ป่วยในภาวะฉุกเฉินทุกรายอย่างดีที่สุดจนพ้นภาวะวิกฤต เมื่อปลอดภัยจึงพิจารณาส่งต่อในภายหลัง ไม่ให้ปฏิเสธการรักษา และให้ความสำคัญกับการให้ข้อมูล คำแนะนำแก่ผู้ป่วยและครอบครัวให้เข้าใจ สำหรับกรณีที่มีข่าวน.ส.โสมสุริยา แสงจันทร์ ชาวจังหวัดมุกดาหาร เสริมจมูกและคาง กับน.ส.สุชาดา เมฆขุนทด ที่บ้านเลขที่ 88 ถนน ชยางกูร ต.ในเมือง อ.เมือง จ.อุบลราชธานี เมื่อเดือนตุลาคม 2550 โดยน.ส.สุชาดา อ้างว่าเป็นแพทย์เสริมความงามใช้สารคอลลาเจนฉีดให้ แต่เกิดการติดเชื้อ ทำให้ใบหน้าเสียโฉม ต้องรับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชน จ.อุบลราชธานี ซึ่งน.ส.สุชาดา ยังมีข้อหากระทำการโดยประมาท ฉีดสารเสริมขนาดเต้านมให้ น.ส.ธัญญ์รภัส นาราช เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2551 และเกิดการติดเชื้อที่ปอดจนเสียชีวิตนั้น นายแพทย์สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า กรณีนี้กองการประกอบโรคศิลปะได้ส่งเจ้าหน้าที่ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว พบกระบอกและเข็มฉีดยา ขวดเปล่าสารที่ใช้ฉีด แต่ไม่พบตัวผู้ให้บริการ สำหรับน.ส.สุชาดามีภูมิลำเนาอยู่ในกทม. และไม่ได้เป็นแพทย์ ส่วนบ้านที่ให้บริการไม่ได้ขออนุญาตเปิดเป็นสถานพยาบาล จะใช้วิธีนัดลูกค้ามาให้บริการเป็นครั้งคราว ซึ่งได้ส่งข้อเท็จจริงทั้งหมดให้กับตำรวจเจ้าของคดีเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการทางคดี ทั้งนี้ ในการรักษาพยาบาล ขอแนะนำให้ประชาชนศึกษาข้อมูลอย่างรอบคอบ ประกอบการตัดสินใจ ทั้งในเรื่องวิธีการในการเสริมความงาม ผลดี ผลเสีย ภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่อาจตามมา ที่สำคัญขอให้ทำกับแพทย์ที่มีใบประกอบโรคศิลปะอย่างถูกต้อง ในสถานพยาบาลที่ได้มาตรฐาน มีใบอนุญาตเปิดสถานพยาบาลอย่างถูกต้อง หากสงสัยว่าอาจเป็นสถานพยาบาลเถื่อน หมอเถื่อนให้แจ้งที่กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัด และกองการประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข โทร. 02-590-1337 ******************************* 20 มีนาคม 2552


   
   


View 16    20/03/2552   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ