คณะผู้บริหารองค์กรนานาชาติภายใต้องค์การสหประชาชาติ ชื่นชมการทำงานของกระทรวงสาธารณสุขไทย ที่มุ่งสร้างสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และสังคมที่ดีให้คนไทย โดยเฉพาะการป้องกันควบคุมโรคเอดส์ วัณโรคอย่างจริงจัง จนได้รับการยอมรับว่าเป็นระดับแนวหน้าของภูมิภาค วันนี้ (18 มีนาคม 2552) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แพทย์หญิงศิริพร กัญชนะ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ณรงค์ศักดิ์ อังคสุวพลา อธิบดีกรมอนามัย และคณะผู้บริหาร ร่วมประชุมปรึกษาหารือกับคณะผู้บริหารองค์กรนานาชาติภายใต้องค์การสหประชาชาติ (United Nations : UN) ประจำประเทศไทย ได้แก่ นางยีเยฟ ซอน (Ms. Gwi-Yeop Son) ผู้ประสานงานและผู้แทนองค์การสหประชาชาติ นางโมนิค ฟิลสโนเอล (Ms. Monique Filsnoel) ผู้บริหารองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration : IOM) นายจี จิริดาร์ (Mr. G. Giridhar) ผู้แทนกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (United Nations Population Fund : UNFPA) นายโทมู โฮซูมิ (Mr.Tomoo Hosumi) ผู้แทนกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (United Nations Fund for Children : UNFPA) นางฌอง เดอ ชุนฮา (Ms. Jean D’ Cunha) ผู้อำนวยการระดับภูมิภาค กองทุนการพัฒนาเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (United Nations Delvelopment Fund for Women : UNIFEM) และดร.มัวรีน เบอมิงแฮม (Dr. Maureen Birmingham) ผู้แทนองค์การ อนามัยโลกประจำประเทศไทย (World Health Organization : WHO) นายวิทยากล่าวว่า การหารือครั้งนี้ คณะผู้แทนองค์กรภายใต้องค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย ได้แสดงความชื่นชมนโยบายของประเทศไทยที่มุ่งสร้างสุขภาพประชาชน ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและสังคมที่ดี ซึ่งสอดคล้องกับการทำงานขององค์การสหประชาชาติ โดยแสดงความเป็นห่วงปัญหาสุขภาพในกลุ่มแรงงานอพยพ เช่น มาลาเรีย และวัณโรค โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานอพยพตามแนวชายแดนที่ไม่เข้าถึงบริการทำให้เกิดการดื้อยา หากควบคุมไม่ดีพอ จะเกิดปัญหาการแพร่ระบาดตามแนวชายแดนไทย พม่า กัมพูชาตามมา และอาจลุกลามไปยังประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคได้ และได้ชื่นชมการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคเอดส์และวัณโรคของไทยที่ทำงานอย่างจริงจัง อยู่ในระดับแนวหน้าของภูมิภาค พร้อมเสนอแนะว่า ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ส่งผลให้การติดเชื้อเอชไอวีในคู่ครองสูงขึ้น และขอให้สนับสนุนนโยบายการกระจายเกลือที่มีไอโอดีนตามเป้าหมายองค์การอนามัยโลกคือให้ได้ร้อยละ 90 ซึ่งจะสามารถป้องกันประชาชนไม่ให้เจ็บป่วยจากโรคคอพอก (Goiter) และปัญหาเด็กปัญญาอ่อนจากแม่ขาดสารไอโอดีนระหว่างตั้งครรภ์ ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้ทำงานร่วมกับองค์กรต่าง ๆ ภายใต้องค์การสหประชาชาติอย่างใกล้ชิด และได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดี ขณะนี้ ไทยได้ให้ความสำคัญกับการป้องกันควบคุมโรคเอดส์ โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นได้จัดบริการดูแลกลุ่มนี้โดยตรง และจัดบริการให้กับกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอชไอวีให้ได้รับยาต้านไวรัส เพื่อลดการติดเชื้อจากแม่สู่ลูกในโรงพยาบาลทุกแห่ง สำหรับวัณโรคในปีนี้ได้รณรงค์อย่างเข้มข้น เพื่อจะปลดไทยให้หลุดจาก 22 ประเทศที่มีผู้ป่วยวัณโรคชุกของโลก โดยให้อาสาสมัครสาธารณสุขช่วยค้นหาผู้ป่วยในชุมชนหมู่บ้านมารับการรักษาและช่วยกำกับดูแลการกินยาจนหายขาด ขณะเดียวกันได้ตรวจคัดกรองในกลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มารับการรักษาในโรงพยาบาล เนื่องจากวัณโรคเป็นโรคฉวยโอกาสตัวฉกาจที่เกิดกับผู้ติดเชื้อเอชไอวีสูงเป็นอันดับ 1 นายวิทยากล่าวต่อว่า สำหรับปัญหาการขาดสารไอโอดีนในเด็กไทยซึ่งส่งผลให้เกิดโรคเอ๋อ บั่นทอนคุณภาพเด็กไทย ได้จัดตั้งกองทุนและพัฒนามาตรฐานการผลิตของผู้ผลิตเกลือ และมุ่งหวังให้โรงงานผลิตเกลือขนาดเล็กปรับบทบาทเป็นผู้กระจายหรือจำหน่ายเกลือมาตรฐานที่ผลิตจากโรงงานขนาดใหญ่ แทนที่การผลิตเกลือเองซึ่งมาตรฐานไม่คงที่ ซึ่ง 2 ปีที่ผ่านมาอัตราการเข้าถึงเกลือไอโอดีนสามารถทำได้ร้อยละ87 นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุ ซึ่งส่วนใหญ่ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่อยู่ในชนบทที่ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาล ก็จะใช้กำลังอสม.ช่วยดูแล เป็นตัวเชื่อมประสานระหว่างหน่วยงานสาธารณสุขและประชาชน โดยจะเน้นการดูแลที่บ้าน ส่วนปัญหาแรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย ซึ่งคาดว่ามีประมาณ 1.7 ล้านคน หากเจ็บป่วยกระทรวงสาธารณสุขก็ให้การดูแลเช่นเดียวกับคนไทย แต่สิ่งที่กังวลคือโรคติดต่อที่มากับคนกลุ่มนี้อาจแพร่ระบาดได้ เช่น มาลาเรีย วัณโรค โรคเท้าช้าง ซึ่งฝ่ายไทยได้ขอความร่วมมือดร.มัวรีน เบอมิงแฮม ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย จัดประชุมผู้เกี่ยวข้องร่วมกับประเทศพม่าและกัมพูชาเพื่อแก้ไขปัญหาโรคติดต่อตามแนวชายแดนด้วย *************************************** 18 มีนาคม 2552


   
   


View 19    18/03/2552   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ