กระทรวงสาธารณสุข เผยแต่ละปีไทยมีผู้เดินทางเข้าออกระหว่างประเทศมากถึง 14 ล้านคน ย้ำด่านป้องกันและควบคุมโรคระหว่างประเทศทั้งทางบก น้ำและอากาศ 60 แห่งทั่วประเทศ ตรวจเข้มโรคติดต่อสำคัญ ตามกฎหมายไทยและกฎอนามัยระหว่างประเทศ
วันนี้ (13 มีนาคม 2552) นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศและห้องกักกันผู้เข้าเมืองผิดกฎหมาย จังหวัดระนอง ว่า ขณะนี้ การคมนาคมขนส่งทั่วโลกมีความสะดวกรวดเร็ว ทั้งทางบก ทางเรือและทางอากาศ ประชาชนเดินทางไปมาหากันทั้งท่องเที่ยวและติดต่อธุรกิจได้อย่างง่ายดาย โดยในส่วนของประเทศไทย นอกจากจะมีจังหวัดที่มีชายแดนติดต่อกับต่างประเทศถึง 30 จังหวัดแล้ว ยังได้เป็นสมาชิกข้อตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Sub-region) ซึ่งมีสมาชิกทั้งสิ้น 6 ประเทศ คือ ไทย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีน โดยมีเส้นทางการขนส่งระหว่างประเทศ 4 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางเศรษฐกิจแนวเหนือ-ใต้ เส้นทางเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก เส้นทางเศรษฐกิจแนวใต้ และเส้นทางการขนส่งระหว่างประเทศและจุดข้ามแดนอื่นๆ ทำให้มีผู้เดินทางระหว่างประเทศถึงปีละประมาณ 14 ล้านคน จึงมีโอกาสที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโรคติดต่ออันตราย อย่างรวดเร็วได้ ถ้าไม่มีมาตรการป้องกันที่ได้มาตรฐานและเป็นระบบ
นายมานิต กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขจึงได้จัดตั้งด่านป้องกันและควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค รวมทั้งสิ้น 60 แห่ง ประกอบด้วย ด่านฯ ท่าอากาศยาน 15 แห่ง ด่านฯ ท่าเรือ 16 แห่งและด่านฯ พรมแดน 29 แห่ง ทำหน้าที่ป้องกันและควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ได้แก่ การคัดกรองผู้ที่เดินทางระหว่างประเทศทั้งขาเข้าและขาออก สร้างสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับผู้เดินทาง ทั้งการสุขาภิบาลยานพาหนะอาหารและน้ำ การกำจัดน้ำเสีย รวมถึงการควบคุมสัตว์และแมลงนำโรค นอกจากนี้ ยังให้การรักษาพยาบาลเบื้องต้น ฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดต่อระหว่างประเทศและออกเอกสารรับรอง และในกรณีที่มีผู้ป่วยสงสัยเป็นโรคติดต่ออันตรายหรือโรคต้องห้าม มีอำนาจในการแยกกัก กักกันหรือควบคุมไว้สังเกตการณ์ได้ โดยยังมีโรคติดต่อที่ต้องรายงานองค์การอนามัยโลกทันที ได้แก่ ไข้ทรพิษ โปลิโอชนิดที่ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงเป็นอัมพาต(Wild Type) ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ และโรคซาร์ส ทั้งนี้การดำเนินการจะเป็นไปตามกรอบของพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2523 และกฎอนามัยระหว่างประเทศ พ.ศ.2548 โดยระมัดระวังให้กระทบกับการค้าและการเดินทางน้อยที่สุด
ด้านนายแพทย์สมชัย นิจพานิช รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับจังหวัดระนองซึ่งมีพื้นที่ติดต่อกับประเทศพม่า มีจุดผ่านแดนถาวร 3 จุด และช่องทางธรรมชาติที่ประชาชนใช้สัญจรตามแนวชายแดนอีกประมาณ 50 ช่องทาง ในปี 2551 มีชาวไทยและชาวต่างประเทศเดินทางเข้าออกผ่านด่านฯ ประมาณ 288,000 คน นอกจากนี้ ยังมีคนต่างด้าวที่เข้ามารับจ้างทำงาน ทั้งที่ขึ้นทะเบียนและที่ติดตามมา และชาวมอร์แกน รวมกว่า 1 แสนคน ซึ่งต้องมีการเฝ้าระวังโรคอย่างเข้มงวด โดยในปีที่ผ่านมาตั้งแต่ 1 มกราคม31 ธันวาคม 2551 พบแรงงานต่างด้าวจังหวัดระนองป่วยทั้งหมด 1,591 ราย โรคที่พบมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ มาลาเรีย 1,057 ราย รองลงมาเป็น อุจาระร่วงเฉียบพลัน 280 ราย และเอดส์ 61 ราย
**************************** 13 มีนาคม 2552
View 14
13/03/2552
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ