รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ย้ำเตือนประชาชนระวังโรคหน้าร้อน เสี่ยงเกิดโรคอาหารเป็นพิษง่าย ในรอบ 2 เดือนนี้พบป่วยแล้ว 16,206 ราย เสียชีวิต 5 ราย พบในขอนแก่นมากที่สุดในภาคอีสานประเทศ เน้นให้อสม. เฝ้าระวังรณรงค์ให้ความรู้ กินอาหารปรุงสุก สะอาด อาหารค้างคืนต้องอุ่นให้เดือดก่อน ล้างมือก่อนปรุงอาหารและกินอาหาร วันนี้ (9 มีนาคม 2552) ที่โรงแรมพูลแมน ราชา ออคิด จังหวัดขอนแก่น นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมเจ้าหน้าที่ ประธานชมรม อสม. ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล ในกลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 11 จังหวัด ได้แก่ อุดรธานี หนองบัวลำภู หนองคาย เลย มุกดาหาร สกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม และร้อยเอ็ด จำนวน 1,500 คน เพื่อเตรียมความพร้อมการดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในหมู่บ้านในปี 2552 รวมทั้งการสร้างขวัญกำลังใจ อสม. นายวิทยา กล่าวว่า ขณะนี้ใน11 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน มี อสม.แสดงตนยืนยันสถานภาพในการรับค่าตอบแทน 600 บาทต่อเดือน ทั้งหมด 212,449 คน ซึ่งจะเริ่มรับในปลายเดือนมีนาคม 2552 นี้ การประชุมในวันนี้ เป็นการเตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และรับพังความคิดเห็น ความต้องการของ อสม. เพื่อเป็นข้อมูล นำไปจัดทำกฎหมายสนับสนุนการปฏิบัติงานของ อสม.ต่อไป นายวิทยากล่าวว่า ในการทำงานของอสม.จากนี้ไปจะเน้นเชิงรุก ซึ่งในฤดูร้อนนี้ โรคที่ต้องเฝ้าระวังอย่างเข้มงวดก็คือ โรคอาหารเป็นพิษ เนื่องจากอากาศที่ร้อนอบอ้าวจะทำให้เชื้อแบคทีเรียเติบโตขยายพันธุ์ได้เร็ว ทำให้อาหารมีอายุสั้นลง บูดเสียง่ายขึ้น โดยเฉพาะอาหารที่มีกะทิผสม ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-2 มีนาคม 2552 สำนักระบาดวิทยารายงานพบผู้ป่วยอาหารเป็นพิษทั่วประเทศแล้ว 16,206 ราย เสียชีวิต 5 ราย และพบว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีผู้ป่วยมากที่สุด พบร้อยละ 50 รองลงมาภาคเหนือ พบร้อยละ 27 ภาคกลางร้อยละ 20 ที่เหลืออยู่ในภาคใต้ โดยจังหวัดขอนแก่นเป็นจังหวัดที่มีผู้ป่วยจำนวน 1,306 ราย ซึ่งมากที่สุดของภาคอีสาน นายวิทยากล่าวต่อว่า ได้กำชับให้อสม.ทั่วประเทศ รณรงค์ ให้ความรู้ประชาชนในการป้องกันโรคอาหารเป็นพิษ ให้ความรู้เรื่องอาหารเป็นพิษ รวมถึงการรับประทานอาหารที่ปรุงสุกด้วยความร้อน โดยให้ยึดหลักกินอาหารที่ร้อน ปรุงสุกใหม่ ใช้ช้อนกลางตักอาหารและล้างมือก่อนปรุงและกินอาหาร รวมทั้งหลังออกจากใช้ห้องน้ำห้องส้วม ด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โรคอาหารเป็นพิษเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย มักเกิดอาการอย่างรวดเร็วเฉลี่ย 4-30 ชั่วโมง หลังรับประทานอาหาร ที่มีเชื้อปนเปื้อนเข้าไป ซึ่งมักพบในอาหารที่ปรุงสุกๆ ดิบๆ เช่น ลาบ ก้อย หลู้ ซกเล็ก จากเนื้อสัตว์ที่ปนเปื้อนเชื้อ เช่น เนื้อไก่ เนื้อหมู เนื้อวัว รวมทั้งใช้เขียงหั่นอาหารดิบและสุกร่วมกัน และอาหารทะเล นอกจากนี้ อาจพบในอาหารที่ทำไว้ล่วงหน้านานๆ แล้วไม่ได้แช่เย็นไว้ ถ้าไม่ได้อุ่นให้เดือดก่อนรับประทาน ก็จะทำให้เป็นโรคนี้ได้ อาการมัก มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดมวนท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเป็นน้ำ อาจมีมูกเลือดปน หากถ่ายเกิน 5 ครั้ง ไข้สูงขึ้น ถ่ายเป็นมูกปนเลือด ขอให้ไปพบเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อการดูแลรักษาที่ถูกต้อง ป้องกันไม่ให้เสียชีวิต การป้องกันโรคนี้ ขอให้ประชาชนพิถีพิถันเรื่องความสะอาดของห้องครัว เก็บอาหารให้ปลอดภัยจากแมลง หนู หรือสัตว์อื่นๆ ใช้น้ำสะอาดล้างภาชนะ โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ให้ทุกจังหวัดรณรงค์ล้างทำความ สะอาดตลาดสด อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อไม่ให้ตลาดเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค ************************* 9 มีนาคม 2552


   
   


View 13    09/03/2552   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ