รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยปีนี้พบผู้ป่วยโรคหัดทั่วประเทศกว่า 800 ราย โดยพบในกลุ่มอายุมากกว่า 6 ปี ถึง 2 เท่าตัว ชี้โรคนี้ติดต่อง่ายมากทางการไอจาม กำชับให้อสม.เฝ้าระวัง กระตุ้นให้พ่อแม่พาเด็กไปฉีดวัคซีนตามกำหนด 2 เข็มฟรี เตือนกลุ่มที่ต้องระวัง คือเด็กลูกแรงงานอพยพ เด็กในชุมชนแออัด และเด็กที่มีปัญหาขาดอาหาร อาจจะมีโรคแทรกซ้อนง่าย
เช้าวันนี้ (8 มีนาคม 2552) ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเปิดประชุมประธานชมรม อสม. ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล จากจังหวัดอุบลราชธานี อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ ยโสธร นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ จำนวน 1,600 คน เพื่อเตรียมความพร้อมนำนโยบายรัฐบาลไปสู่การปฏิบัติ เกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคแก่ประชาชนในพื้นที่ และการสร้างขวัญกำลังใจของ อสม.ปี 2552 ว่า การประชุมในวันนี้ เป็นการเตรียมความพร้อม ความเข้าใจของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ในการดำเนินงานส่งเสริมบทบาทของอสม. กลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 8 จังหวัด ซึ่งมี อสม.แจ้งยืนยันสถานภาพแล้ว จำนวน 202,787 คน
นายวิทยากล่าวต่อว่า ในวันนี้ ได้ย้ำเตือนให้อสม.ใน 8 จังหวัดภาคอีสานตอนล่าง รวมทั้งอสม.ทั่วประเทศด้วย เฝ้าระวังโรคติดต่อในพื้นที่ โดยเฉพาะโรคหัดหรือที่ชาวบ้านเรียกว่าไข้ออกผื่น ซึ่งขณะนี้กำลังแนวโน้มระบาดมากขึ้นในกลุ่มประชาชนที่มีอายุมากกว่า 6 ปีขึ้นไป ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-22 กุมภาพันธ์ 2552 สำนักระบาดวิทยา รายงานพบผู้ป่วยโรคหัดทั่วประเทศ 837ราย กลุ่มอายุมากกว่า 6 ปีขึ้นไป ป่วยมากกว่าเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี ประมาณ 2 เท่าตัว โดยใน 8 จังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง พบ 90 ราย ได้แก่ บุรีรัมย์ 36 ราย นครราชสีมา และ สุรินทร์ จังหวัดละ 19 ราย ศรีสะเกษ 7 ราย อุบลราชธานี 6 ราย ยโสธร ชัยภูมิ อำนาจเจริญ จังหวัดละ 1 ราย
ทั้งนี้ได้กำชับให้ อสม.ทุกคน เฝ้าระวังการระบาดของโรคหัด พร้อมทั้งให้ความรู้ในการป้องกันและดูแลเมื่อเป็นหัด เนื่องจากอาจมีโรคแทรกซ้อนทำให้ถึงเสียชีวิตได้ ซึ่งโรคนี้มีวัคซีนฉีดป้องกันได้ผลดี โดยให้ อสม.ติดตามให้ผู้ปกครองพาเด็กอายุ 9 -12 เดือน ไปฉีดวัคซีนป้องกันหัดเข็มแรก และฉีดเข็มที่ 2 เมื่อเด็กเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 หรือ อายุ 7 ปี
ทางด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า โรคหัดเป็นโรคไข้ออกผื่น เกิดจากเชื้อไวรัสมีเซิลส์ (Measles) พบได้ในลำคอของผู้ป่วย ติดต่อกันได้ง่ายมากทางการไอ จาม หรือพูดกันในระยะใกล้ชิด ผู้ติดเชื้อจะเป็นโรคเกือบทุกราย จะมีอาการป่วย หลังติดเชื้อประมาณ 3-5 วัน โรคนี้พบได้ตลอดปี พบบ่อยในกลุ่มอายุ 1-6 ปี ถ้าไม่มีภูมิต้านทานจะเป็นได้ทุกอายุ
อาการ เริ่มด้วยมีไข้ น้ำมูกไหล ไอ ตาแดง ตาแฉะ และกลัวแสง อาการต่างๆ จะมากขึ้นพร้อมกับไข้สูงขึ้น และจะสูงเต็มที่เมื่อมีผื่นขึ้นในวันที่ 4 ของไข้ ลักษณะผื่นที่ขึ้นจะนูนแดง ติดกันเป็นปื้นๆ โดยจะขึ้นที่หน้า บริเวณชิดขอบผมก่อน แล้วแผ่กระจายไปตามลำตัว แขน ขา เมื่อผื่นแพร่กระจายไปทั่วตัว กินเวลาประมาณ 2-3 วัน
ไข้ก็จะเริ่มลดลง ระยะแรกผื่นมีสีแดง ต่อมาสีจะเข้มขึ้น เป็นสีแดงคล้ำ หรือน้ำตาลแดง คงอยู่นาน 5-6 วัน กว่าจะจางหายไปหมด กินเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ บางครั้งจะพบผิวหนังลอกเป็นขุยด้วย ทั้งนี้ควรให้เด็กหยุดเรียนหรือแยกเด็กที่ป่วยออกจากเด็กอื่น เป็นเวลาอย่างน้อย 1 อาทิตย์
นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวต่อว่า กลุ่มที่ต้องระวัง ได้แก่เด็กที่อยู่ในสภาพยากจน อยู่ในชุมชนแออัด มีภาวะทุพโภชนาการ อาจจะมีโรคแทรกซ้อนเกิดขึ้นง่าย เช่น หูส่วนกลางอักเสบ (Otitis media) หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ ถ่ายเหลวเป็นน้ำ ซึ่งจะทำให้เด็กขาดอาหารรุนแรงขึ้น นอกจากนี้ยังอาจพบสมองอักเสบพบได้ประมาณ 1 ใน 1,000 ราย ซึ่งหากไม่เสียชีวิต อาจทำให้พิการได้ โรคนี้ไม่มียารักษาโดยเฉพาะ ในการป้องกันโรค ขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วย วิธีที่ดีที่สุดคือให้วัคซีนป้องกัน ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขให้วัคซีนป้องกันโรคหัด 2 ครั้งฟรี ครั้งแรกเมื่อเด็กอายุ 9-12 เดือน โดยให้ในรูปของวัคซีนหัดชนิดเดี่ยว (M) ครั้งที่ 2 เมื่อเด็กเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โดยให้ในรูปของวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด คางทูม หัดเยอรมัน (MMR)
...................................... 8 มีนาคม 2552
View 20
08/03/2552
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ