กระทรวงสาธารณสุข เผยการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังจากเหตุพุงหลาม เป็นตัวฉุดเศรษฐกิจของประเทศ ในปี 2549 ไทยต้องสูญเสียผลผลิตมวลรวมประเทศมากถึง 4,200 ล้าน และจะพุ่งขึ้นเกือบ 13 เท่า ในอีก 6 ปีข้างหน้า จับมือมหาดไทย ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำท้องถิ่น เป็นผู้นำพิชิตพุง พิชิตอ้วน มั่นใจจะช่วยลดการสูญเสียผลผลิตมวลรวมประเทศได้ 5,000 – 10,000 ล้านบาท บ่ายวันนี้ (3 มีนาคม 2552) ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือในโครงการ “จังหวัดไร้พุง มุ่งสู่สุขภาพดี” ด้วยการรณรงค์ลดปัจจัยเสี่ยงจากโรคอ้วนลงพุง หรือเมตาบอลิค ซินโดรม (Metabolic syndrome) โดยใช้หลักปรับเปลี่ยนพฤติกรรม 3 อ. ได้แก่ อาหาร ออกกำลังกาย และอารมณ์ และให้ทุกจังหวัดแข่งขันรณรงค์จังหวัดไร้พุง มุ่งสู่สุขภาพดี เพิ่มบุคคลต้นแบบไร้พุงและองค์กรต้นแบบไร้พุงให้มากขึ้น นายวิทยา กล่าวว่า จากการวิเคราะห์สถานการณ์เจ็บป่วยของคนไทย ในปี 2550 มีผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจขาดเลือด หลอดเลือดสมอง และปอดอุดกั้นเรื้อรัง เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทั่วประเทศกว่า 2 ล้านราย มากที่สุดคือโรคความดันโลหิตสูง มีกว่า 1 ล้านราย ในจำนวนนี้มีกว่า 2 แสนราย เกิดโรคแทรกซ้อนตามมา ทั้งไตวาย อัมพฤกษ์ อัมพาตและโรคหัวใจ โดยแนวโน้มการเจ็บป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบถึงเศรษฐกิจระดับประเทศ ในปี 2549 คาดประมาณว่าโรคหัวใจ อัมพาต และเบาหวาน ทำให้ไทยต้องสูญเสียผลผลิตมวลรวมประเทศ หรือจีดีพี (GDP) ถึง 4,200 ล้านบาท หากไม่เร่งแก้ไข ในปี 2558 หรืออีก 6 ปีข้างหน้า การสูญเสียผลผลิตมวลรวมประเทศจะเพิ่มเป็น 52,150 ล้านบาท หรือเกือบ 13 เท่า แต่หากมีมาตรการป้องกันควบคุมโรคที่ดี จะช่วยลดการสูญเสียผลผลิตมวลรวมประเทศได้ถึงร้อยละ 10 – 20 หรือ 5,000 – 10,000 ล้านบาท นายวิทยา กล่าวต่อว่า ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทยจัดทำ โครงการจังหวัดไร้พุง มุ่งสู่สุขภาพดี เพื่อสร้างบุคคลต้นแบบไร้พุงและองค์กรต้นแบบไร้พุงให้ครอบคลุมทุกจังหวัด โดยสนับสนุนให้ผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ นายกเทศมนตรี และนายกองค์การบริหารส่วนตำบล เป็นผู้นำในการพิชิตอ้วน พิชิตพุง ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเป็นองค์กรต้นแบบไร้พุง และอปท. สร้างชุมชนต้นแบบไร้พุงจังหวัดละ 1 แห่ง เริ่มตั้งแต่มีนาคม - สิงหาคม 2552 นี้ สำหรับจังหวัดที่ผู้นำ บุคลากรองค์กร และประชาชน มีการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้ถูกต้องตามหลัก 3 อ. จนสามารถพิชิตอ้วน พิชิตพุงได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด จะได้รับรางวัล ได้แก่ รางวัลชนะเลิศ เงินสด 100,000 บาท รองชนะเลิศอันดับ 1 เงินสด 80,000 บาท รองชนะเลิศอันดับ 2 เงินสด 50,000 บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณทุกรางวัล ส่วนจังหวัดที่ได้คะแนนสูงสุดของแต่ละเขต จะได้รับรางวัลเงินสด 20,000 บาทพร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ ทางด้านนายแพทย์ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัยได้เริ่มดำเนินโครงการคนไทยไร้พุง ด้วยหลัก 3 อ. คือ อาหาร ออกกำลังกาย และอารมณ์ ตั้งแต่ ปี 2550 พบว่าระยะเวลาเพียง 4 เดือน ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถลดน้ำหนักได้เฉลี่ย 9 กิโลกรัม รอบเอวลดลงเฉลี่ย 9 เซนติเมตร โดยน้ำหนักสูงสุดที่ลดได้คือ 28 กิโลกรัม และรอบเอว 25 เซนติเมตร ทั้งนี้ ผลการศึกษาล่าสุดของมหาวิทยาลัยเซ็นต์หลุยส์ สหรัฐอเมริกา ปี 2552 พบว่า คนที่มีภาวะเสี่ยงโรคเบาหวาน หากลดน้ำหนักลงได้ร้อยละ 7 จะช่วยลดความเสี่ยงได้ถึงร้อยละ 58 ส่วนผู้มีภาวะเสี่ยงเป็นโรคตับ ไขมันเกาะตับ และมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน หากลดน้ำหนักได้อย่างน้อยร้อยละ 5 ขึ้นไป เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 9 เดือน จะช่วยลดไขมันที่เกาะตับ ช่วยให้อินซูลินทำงานดีขึ้น ถ้าลดน้ำหนักได้ร้อยละ 9 จะช่วยฟื้นฟูสภาพของตับให้ดีขึ้น ***************************************** 3 มีนาคม 2552


   
   


View 16    03/03/2552   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ