กระทรวงสาธารณสุข ฝึกซ้อมแผนรับสถานการณ์ฉุกเฉินขั้นสุดท้าย สร้างความมั่นใจผู้เข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 14 ในประสิทธิภาพบริการทางการแพทย์ของไทย โดยจัดทีมแพทย์ พยาบาล รถพยาบาลฉุกเฉิน 72 ทีม ประจำทุกโรงแรมที่พัก ที่ประชุม และสนามบิน พร้อมระบบส่งต่อทั้งทางบกและทางอากาศ บ่ายวันนี้ (24 กุมภาพันธ์ 2552) นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายพิเชฐ พัฒนโชติ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นางศิริวรรณ ปราศจากศัตรู เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.เรวัติ วิศรุตเวช อธิบดีกรมการแพทย์ นพ.ชาตรี เจริญชีวะกุล เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ และนพ.สุริยะ วงศ์คงคาเทพ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ตรวจเยี่ยมการเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข ที่โรงพยาบาลหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และสนามบินค่ายนเรศวร อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี เพื่อดูความพร้อมขั้นสุดท้ายรับการจัดประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 14 นายวิทยา กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานหลัก ดูแลบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข ตลอดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ระหว่างวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2552 – 1 มีนาคม 2552 ซึ่งได้มีการวางแผนเตรียมความพร้อมบริการทั้งในสถานการณ์ปกติและสถานการณ์ฉุกเฉิน อาทิ การเจ็บป่วยฉุกเฉินของผู้เข้าร่วมประชุม การก่อการร้าย เป็นต้น เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมมั่นใจในประสิทธิภาพการดูแลสุขภาพ การรักษาพยาบาล จนถึงการส่งต่อผู้ป่วยของประเทศไทย โดยกระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมทีมแพทย์ พยาบาล รถพยาบาลฉุกเฉิน รวม 72 ทีม ประจำทุกโรงแรมที่พัก ที่ประชุม และสนามบิน และเตรียมพร้อมระบบส่งต่อ ทั้งทางบกและทางอากาศ สำหรับการซ้อมใหญ่ในวันนี้ ได้จำลองเหตุการณ์เกิดเหตุระเบิดที่บริเวณลอบบี้โรงแรมที่ประชุม ต่อมามี ผู้แต่งกายเป็นตำรวจชั้นสัญญาบัตร เรียกให้ประชาชนและผู้เข้าร่วมประชุมเข้าไปหลบในห้องลอบบี้ ขณะชุลมุน ผู้เข้าประชุมได้พยายามเคลื่อนย้ายออกจากโรงแรม ขณะนั้นเองผู้แต่งกายเป็นตำรวจในตอนแรกได้ระเบิดตัวเอง ตัวระเบิดมีทั้งการระเบิดและปล่อยแก๊สออกมา ทำให้มีผู้บาดเจ็บจากแรงระเบิดและจากอาคารบางส่วนถล่มทับ รวมทั้งมีผู้ป่วยจากภาวะหัวใจขาดเลือด หลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ทีมแพทย์ของกรมการแพทย์ที่ประจำอยู่ที่โรงแรม ได้เข้าดูแลผู้ได้รับบาดเจ็บ โดยประสานงานกับตำรวจ หน่วยรักษาความปลอดภัย ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อประเมินความปลอดภัยและจัดแบ่งพื้นที่ปฏิบัติการ พร้อมทั้งรายงานมาที่ศูนย์สั่งการให้แจ้งทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องเข้าปฏิบัติการ และทำการเคลื่อนย้ายผู้ที่ได้รับบาดเจ็บไปยังโรงพยาบาลภายในระยะเวลาไม่เกิน 30 นาที กรณีจำเป็นต้องส่งผู้ป่วยทางเฮลิคอปเตอร์ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ จะประสานกองบินตำรวจ กระทรวงกลาโหม และโรงพยาบาลเอกชน “การซ้อมแผนจำเป็นต้องจำลองสถานการณ์ที่รุนแรง ซึ่งมีความเป็นได้น้อยมากที่จะเกิดขึ้นระหว่างการประชุม แต่เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม จำเป็นที่จะต้องคาดถึงสถานการณ์ที่รุนแรงไว้ก่อน ซึ่งหากปฏิบัติการในสถานการณ์ที่รุนแรงได้มีประสิทธิภาพ การดูแลผู้ป่วยในกรณีที่เล็กกว่าก็เป็นเรื่องง่าย” นายวิทยากล่าว ****************************** 24 กุมภาพันธ์ 2552


   
   


View 13    24/02/2552   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ