สาธารณสุขไทยร่วมมือพม่าจัดฝึกอบรม พัฒนาศักยภาพแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ระหว่างโรงพยาบาลแม่สาย จังหวัดเชียงราย กับโรงพยาบาลท่าขี้เหล็ก ประเทศพม่า ส่งเสริมสุขภาพประชาชน และลดโรคที่ป้องกันได้ตามแนวชายแดนไทย-พม่า เริ่มปี 2552-2554 เน้น 7 หลักสูตร อาทิ การแพทย์ฉุกเฉิน การป้องกันโรคเอดส์ วัณโรค มาลาเรีย
นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเดินทางไปมอบผ้าห่ม เครื่องอุปโภคบริโภค โต๊ะเรียน ให้เด็กกำพร้าที่ได้รับผลกระทบจากพายุไซโคลนนาร์กีสในพม่า จำนวน 100 ชุด ที่วัดพระธาตุสายเมือง จังหวัดท่าขี้เหล็ก ประเทศพม่า ว่า จากข้อมูลการให้บริการดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วยตามแนวชายแดนไทย-พม่า ในจังหวัดเชียงราย พบผู้ป่วยชาวพม่าเดินทางเข้ามารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลแม่สาย จังหวัดเชียงราย เพิ่มมากขึ้นทุกปี จากในปี 2549 มี 37,146 ราย เพิ่มเป็น 42,291 ราย ในปี 2551 โรคที่พบมาก 5 อันดับ ได้แก่ ไข้หวัด โรคความดันโลหิตสูง ท้องอืดท้องเฟ้อ โรคเอดส์ และเบาหวาน
นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวว่า ในการแก้ไขปัญหาการข้ามมาใช้บริการของชาวพม่า และช่วยพัฒนาศักยภาพของแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่อยู่ตามแนวชายแดนไทย-พม่า กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำโครงการพัฒนาโรงพยาบาลพี่โรงพยาบาลน้อง ระหว่างโรงพยาบาลแม่สาย จังหวัดเชียงราย กับ โรงพยาบาลท่าขี้เหล็ก ประเทศพม่า โดยมีกระทรวงการต่างประเทศเป็นเจ้าภาพและประสานงาน โครงการนี้ใช้เวลา 3 ปี ตั้งแต่ปี 2552-2554 จะเน้นการฝึกอบรมและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ 7 หลักสูตร ประกอบด้วย 1.การแลกเปลี่ยนเรียนรู้แพทย์เฉพาะทางในการดูแลผู้ป่วย 2.การฝึกอบรมแพทย์และพยาบาลในเรื่องระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน 3.การพยาบาลดูแลผู้ป่วยห้องผ่าตัด 4.การฝึกอบรมพยาบาลห้องผ่าตัด 5.การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผู้ชำนาญการป้องกันและควบคุมโรคเอดส์ วัณโรคและมาลาเรีย 6.การบริหารงานโรงพยาบาล และ 7.ระบบบริการโรงพยาบาล
ทั้งนี้ ได้ให้สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้ประสานงานหลัก และโรงพยาบาล แม่สายเป็นแกนหลักฝึกอบรมในสาขาเฉพาะทาง เช่น การดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวี การป้องกันและควบคุมโรคเอดส์ วัณโรคและมาลาเรีย โดยในวันที่ 26-27 มกราคม 2552 นี้ กระทรวงสาธารณสุข จะจัดประชุมเตรียมความพร้อมการฝึกอบรม ที่โรงพยาบาลแม่สาย จังหวัดเชียงราย
ทางด้านนายแพทย์สุระ คุณคงคาพันธ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่สาย กล่าวว่า ต่อวันที่โรงพยาบาล แม่สายจะมีชาวพม่าเข้ามาใช้บริการตรวจรักษาโรคประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยทั้งหมด โดยประมาณร้อยละ 8 ต้องนอนรักษาในโรงพยาบาล ผู้ป่วยพม่าส่วนใหญ่ไม่มีหลักประกันสุขภาพ จ่ายค่ารักษาเอง แต่มีส่วนหนึ่งที่ไม่มีเงิน โรงพยาบาลแม่สายต้องให้การช่วยเหลือปีละประมาณ 8 แสนบาท ซึ่งการที่กระทรวงสาธารณสุขจัดอบรมพัฒนาศักยภาพให้ทางเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของพม่าครั้งนี้ เป็นเรื่องที่ดีมาก จะทำให้ชาวพม่าได้รับการดูแลสุขภาพดีขึ้น คาดว่าแนวโน้มจำนวนผู้ป่วยที่จะข้ามมารักษาที่ไทยจะลดน้อยลงไปด้วย รวมทั้งลดปัญหาโรคติดต่อชายแดนที่เป็นปัญหาในท้องถิ่น ได้แก่ วัณโรค และไข้เลือดออก
***************************** 23 มกราคม 2552
View 15
23/01/2552
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ