กระทรวงสาธารณสุข เผยไทยเสี่ยงติดโรคแรงงานต่างด้าว มีแรงงานกว่า 1 ล้านคนไม่ผ่านการตรวจสุขภาพ เตือนนายจ้างก่อนรับเข้าทำงาน ต้องส่งตรวจสุขภาพก่อน ป้องกันโรคติดต่อร้ายแรง อาทิ วัณโรค โรคเรื้อน เผยผลตรวจสุขภาพปี 2550 มีแรงงานต่างด้าวเป็นโรคติดต่อต้องรักษา 4,802 คน และมี 113 คนต้องส่งตัวกลับประเทศทันที เพราะป่วยระยะแพร่เชื้อ สธ.แบกค่ารักษาต่างด้าวผิดกฎหมายปี 50 ถึง 214 ล้านบาท
วันนี้ (21 มกราคม 2552) ที่ศาลากลาง จ.สมุทรสาคร นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลในสังกัด สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 4 จังหวัดราชบุรี ผู้ประกอบการ นายจ้าง หอการค้าจังหวัด และผู้เกี่ยวข้องกับแรงงานต่างด้าว ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาวัณโรคในแรงงานต่างด้าวจังหวัดสมุทรสาคร เนื่องจากเป็นแหล่งอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ มีแรงงานต่างด้าวเข้ามาใช้แรงงานมากที่สุดในประเทศ โดยในรอบ 5 ปีมานี้ มีแนวโน้มพบแรงงานต่างด้าวป่วยเป็นวัณโรคที่อยู่ในระยะแพร่เชื้อ ซึ่งเป็นอันตรายต่อคนรอบข้างและชุมชน เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัว จาก 47 รายในปี 2547 เป็น 108 รายในปี 2551 และมีอัตราการรักษาหายขาดเพียงร้อยละ 77
นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวว่า ขณะนี้คาดว่ามีแรงงานต่างชาติและผู้ติดตามเข้ามาอยู่ในประเทศไทย 5-6 ล้านคน ซึ่งปัญหาสำคัญที่มาพร้อมกับแรงงานต่างด้าวคือ การนำโรคติดต่อต่างๆ เข้ามาแพร่กระจายในประเทศด้วย ทำให้หลายโรคที่ไทยเคยควบคุมได้กลับมาเป็นปัญหาอีก อาทิ วัณโรค มาลาเรีย เอดส์ เป็นต้น ซึ่งจากการวิเคราะห์กลุ่มต่างด้าวสัญชาติพม่า ลาวและกัมพูชา ซึ่งขึ้นทะเบียนกับกระทรวงมหาดไทยมีประมาณ 1.7 ล้านคนในปี 2551 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2550 อนุญาตให้แรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง สัญชาติพม่า ลาวและกัมพูชา อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว เพื่อรอการส่งกลับและทำงานได้เป็นเวลาไม่เกิน 2 ปี สิ้นสุดวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553 ขณะที่ในปี 2550 มีแรงงานผ่านการตรวจสุขภาพตามกฎหมายเพียง 462,236 คน ส่วนใหญ่เป็นพม่าหรือมีประมาณ 1 ใน 4 ยังเหลือผู้ที่ไม่ผ่านการตรวจสุขภาพเลยอีกกว่า 1 ล้านคน จึงเป็นเรื่องที่น่าห่วงมาก เพราะคนไทยในเขตเมืองจะเพิ่มความเสี่ยงติดโรคสูงขึ้น
นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวต่อว่า หากนายจ้างรับแรงงานต่างด้าวที่ไม่ผ่านการตรวจสุขภาพ จะมีความเสี่ยงติดโรคที่มากับแรงงานเหล่านี้ ซึ่งผู้ที่เป็นโรคบางครั้งยังไม่แสดงอาการป่วยให้เห็น แต่สามารถแพร่เชื้อสู่คนอื่นๆ ได้ แรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย หากเจ็บป่วยมักไม่กล้าไปรักษา อาจมาจากปัญหาการสื่อสารหรือกลัวถูกจับ ยิ่งเป็นอันตรายต่อพื้นที่มาก เพราะจะเป็นแหล่งแพร่โรคสำคัญ จึงอยากเชิญชวนให้นายจ้างนำแรงงานเหล่านี้มาขึ้นทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่อให้ง่ายต่อการควบคุมป้องกันโรค และวางแผนจัดบริการรักษาพยาบาลให้เหมาะสม
ผลการตรวจสุขภาพแรงงานต่างด้าวในปี 2550 จำนวน 462,236 คน พบเป็นวัณโรค เท้าช้าง โรคเรื้อน ซิฟิลิส มาลาเรีย และพยาธิลำไส้ รวม 4,915 คน ในจำนวนนี้อยู่ในระยะแพร่เชื้อ 113 คน ถือว่ามีอันตราย ต้องรับตัวเข้ารักษาและรอส่งตัวกลับประเทศ มากที่สุดคือ วัณโรค ส่วนในรอบ 6 เดือนในปี 2551 พบเป็นโรค 3,147 คน อยู่ในระยะแพร่เชื้อ 77 คน นอกจากนี้ยังพบปัญหาตั้งครรภ์ปีละกว่า 7,000 คน เพิ่มภาระภาครัฐต้องแบกรับค่ารักษา ในปี 2550 มีแรงงานต่างด้าวซื้อบัตรประกันสุขภาพจากกระทรวงสาธารณสุข ราคา 1,300 บาทต่อคนต่อปี จำนวน 343,527 คน รวมเป็นเงิน 446 ล้านกว่าบาท แต่ในปีเดียวกัน มีแรงงานต่างด้าวเจ็บป่วย ค่ารักษารวม 1,343 ล้านกว่าบาท ในจำนวนนี้มีบัตรประกันสุขภาพ มูลค่า 947 ล้านบาท ไม่มีบัตรประกันสุขภาพ 396 ล้านบาท กระทรวงสาธารณสุขต้องรับภาระจ่ายเงินรักษาให้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายปีละ 214 ล้านบาท นายแพทย์ปราชญ์กล่าว
สำหรับจังหวัดสมุทรสาคร ในปี 2551 มีแรงงานต่างด้าวขึ้นทะเบียนและตรวจสุขภาพ 75,454 คน ร้อยละ 97 สัญชาติพม่า ที่เหลือเป็นลาวและกัมพูชา ผลการตรวจพบเป็นโรคติดต่อ 103 คน ดังนี้ วัณโรคปอด 60 คน โรคซิฟิลิส 41 คน โรคเท้าช้าง 2 คน และพบตั้งครรภ์ 935 คน ในกลุ่มของวัณโรคมีอัตราการรักษาหายขาดเพียงร้อยละ 77 เท่านั้น กระทรวงสาธารณสุขได้เร่งแก้ไข โดยในปีนี้ได้จัดให้จังหวัดสมุทรสาครเป็นพื้นที่นำร่องในการแก้ไขปัญหาวัณโรคในแรงงานต่างด้าว ซึ่งจะเพิ่มการดูแลรักษาผู้ป่วยวัณโรคให้ได้สูงกว่าร้อยละ 90 ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายในจังหวัด โดยเฉพาะนายจ้าง
ดังนั้น จึงขอให้นายจ้างที่ประสงค์จ้างแรงงานต่างด้าวทำงาน พาไปตรวจสุขภาพทุกคน เสียค่าตรวจสุขภาพ 600 บาท/คน และทำประกันสุขภาพกับสถานพยาบาลที่อยู่ในพื้นที่ โดยบัตรประกันสุขภาพจะมีอายุ 1 ปี หากพบโรคจะได้รักษาให้หายขาดและดูแลสุขภาพต่อเนื่อง เมื่อเจ็บป่วยไม่ต้องเสียค่ารักษาอีก และขอให้นายจ้างแรงงานต่างด้าว ดูผลตรวจสุขภาพตามใบรับรองแพทย์ที่แพทย์ออกให้ภายหลังการตรวจ หากผลการตรวจสุขภาพพบเป็นโรคต้องห้ามทำงาน ได้แก่ วัณโรคระยะติดต่อ โรคเรื้อนที่ปรากฏอาการ โรคซิฟิลิสระยะร้ายแรง โรคพิษสุราเรื้อรัง ผู้ติดยาเสพติด โรคจิตฟั่นเฟือนหรือปัญญาอ่อน ให้ส่งเข้ารับการรักษาทันที แจ้งสถานีตำรวจและสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในพื้นที่ เพื่อดำเนินการส่งกลับประเทศทั้งหมด ส่วนผู้ที่เป็นโรคทั่วไป ไม่รุนแรงสามารถทำงานได้ ก็ต้องดูแลรักษาให้หายขาดและตรวจสุขภาพซ้ำ เพื่อความมั่นใจว่าหายขาดจริง
********************************************** 21 มกราคม 2552
View 15
21/01/2552
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ