กรมการแพทย์โดยจักษุแพทย์ รพ.เมตตาฯ แนะนำว่าภาวะความดันตาสูงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคต้อหิน เป็นภัยเงียบที่อาจนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรโดยที่ผู้ป่วยไม่ทันรู้ตัว อาจเกิดจากความดันในลูกตาที่สูงขึ้นจะมีผลทำให้ประสาทตาถูกทำลาย ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดได้แก่ ผู้ที่มีบุคคลในครอบครัวที่เป็นต้อหิน อายุที่เพิ่มมากขึ้น ผู้ที่มีโรคประจำตัวบางชนิดที่มีการใช้ยาสเตียรอยด์อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน แนะนำตรวจสุขภาพดวงตา อย่างสม่ำเสมอ หากมีอาการผิดปกติควรพบจักษุแพทย์
นายแพทย์ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันให้คำนิยามโรคต้อหินว่าเป็นโรคที่มีลักษณะการเปลี่ยนแปลงของขั้วประสาทตาถูกทำลายซึ่งเป็นตัวนำกระแสการมองเห็นไปสู่สมอง เมื่อขั้วประสาทตาถูกทำลายจะมีผลทำให้สูญเสียลานสายตา เมื่อเป็นมาก ๆ อาจสูญเสียการมองเห็นในที่สุดเป็นการสูญเสียถาวรรักษาให้กลับคืนมามองเห็นไม่ได้ ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคที่สำคัญที่สุดคือการที่มีความดันในลูกตาขึ้นสูงผิดปกติ และความดันในลูกตาที่สูงผิดปกตินี้จึงทำให้เกิดภาวะเสื่อมของขั้วประสาทตา นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ อีก
นายแพทย์อาคม ชัยวีระวัฒนะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) กล่าวว่า โรคต้อหินสามารถพบได้ตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึงผู้สูงอายุ กลุ่มที่พบมาก คือกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป และในผู้ที่มีคนในครอบครัวมีประวัติเป็นต้อหินจะมีความเสี่ยงมาก ความดันในลูกตาสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุด ที่ทำให้เกิดการทำลายขั้วประสาทตาในโรคต้อหินโดยความดันตายิ่งสูงยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดต้อหินมากขึ้นและ เร็วขึ้น นอกจากนี้ยังพบในกลุ่มที่มีโรคการไหลเวียนเลือดไม่ดีทำให้เลือดไปเลี้ยงที่ขั้วประสาทตาลดลง ผู้ที่มีสายตาสั้น หรือยาวมากๆ ก็มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดต้อหินเช่นกัน
แพทย์หญิงอรอร ธงอินเนตร จักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านต้อหิน กล่าวเสริมว่า ภาวะความดันตาสูงคือการเกิดความดันในดวงตาสูงกว่ามากกว่า 21 มิลลิเมตรปรอท โดยปกติค่าความดันปกติจะอยู่ระหว่าง 6 ถึง 21 มิลลิเมตรปรอท ในผู้ที่อายุ 40 ปีขึ้นไปมีภาวะความดันตาสูงมากถึง 9.4 เปอร์เซ็นต์ และภาวะนี้มีแนวโน้มที่จะพบมากในผู้ป่วยต้อหิน มุมเปิด ซึ่งเป็นต้อหินชนิดที่พบบ่อย สาเหตุที่ก่อให้ภาวะความดันตาสูงเกิดจากการรบกวนสมดุลปกติของการผลิตน้ำและการระบายน้ำออกจากลูกตาที่ลดลง ถ้ามีภาวะความดันสูงอย่างต่อเนื่องจะส่งผลให้เส้นประสาทตาที่บอบบางถูกทำลายและทำให้เกิดโรคต้อหินในที่สุด เราไม่สามารถรู้ได้ด้วยตัวเองว่าตัวเราเป็นภาวะความดันตาสูง หรือต้อหิน เพราะผู้ป่วยระยะเริ่มแรกมักไม่มีอาการเช่นปวดตาหรือตามัว จะสามารถตรวจพบได้จากจักษุแพทย์เท่านั้น ซึ่งในผู้ที่มีความหนาของกระจกตาส่วนกลางที่บางกว่าปกติอาจมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคความดันตาสูงและต้อหินเพิ่มขึ้น ภาวะความดันตาสูงยังมีความสัมพันธ์กับภาวะตาอื่น ๆ เช่นโรคม่านตาอักเสบ โรคเบาหวานจอประสาทตา หากมีปัจจัยเสี่ยงข้างต้นแนะนำให้ปรึกษาจักษุแพทย์เพื่อตรวจตาและวัดความดันตาอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยปีละครั้ง และในผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นต้อหินก็ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะความดันตาสูงและเป็นต้อหินได้เช่นเดียวกัน โรคนี้มักไม่มีอาการ จะเริ่มสูญเสียลานสายตา คือการมองเห็นจำกัดวงแคบลงอย่างช้าๆ จนระยะสุดท้ายอาจสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร ต้อหินบางประเภท เช่น ต้อหินมุมปิดเฉียบพลันผู้ป่วยจะมีอาการปวดมาก ตามัวลงและตาแดงถือเป็นภาวะเร่งด่วนมากต้องมาพบจักษุแพทย์โดยเร็ว สำคัญที่สุดคือผู้ป่วยต้องมาตรวจติดตามอาการและปฏิบัติตามคำแนะนำของจักษุแพทย์อย่างเคร่งครัด วิธีการรักษาต้อหินคือการใช้ยาหยอดตาเพื่อลดความดันตา การเลเซอร์ หรือการผ่าตัดต้อหินเพื่อรักษาภาวะความดันตาสูง ปัจจัยสำคัญคือ ความดันตาสูงมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะนำไปสู่โรคต้อหินซึ่งเป็นภัยเงียบ ดังนั้นในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงดังที่กล่าวมาและผู้ที่มีภาวะผิดปกติของการมองเห็นควรปรึกษาจักษุแพทย์ เพื่อวัดความดันตาและคัดกรองโรคตาและโรคต้อหินอย่างเหมาะสม
#รพ.เมตตาฯ #ภาวะความดันตาสูง #โรคต้อหิน #ภัยเงียบ #ตาบอดถาวร
21 เมษายน 2567
View 39
21/06/2567
ข่าวในรั้ว สธ.
สำนักสารนิเทศ