วันนี้ (13 มิ.ย.67) เวลา 13.30 น. ที่ห้องประชุมจอมกิตติ ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดเชียงราย นางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงราย ครั้งที่ 1/2567 โดยมีนายแพทย์คงศักดิ์ ชัยชนะ นายณรงค์ ลือชา รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย นางรัตนา รัชตพิสิฐกร ผู้ช่วยนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย พร้อมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงราย และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมฯ

ที่ประชุมได้มีการนำเสนอคำสั่งการแต่งตั้งคณะกรรมการฯ ชี้แจงบทบาทหน้าที่ ของคณะกรรมการ รายงานสถานการณ์โรคติดต่อที่สำคัญ ได้แก่ โรคไข้เลือดออก วัณโรค และโรคติดต่อที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน พร้อมทั้งร่วมพิจารณาการควบคุมและป้องกันโรคติดต่อนำโดยยุงลาย บทบาทหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการควบคุมการระบาดของโรคไข้เลือดออก รวมไปถึงการเสนอคำสั่งคณะทำงาน ของด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ และได้มีข้อสั่งการให้มีการประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงราย เรื่องมาตรการควบคุมและป้องกันโรคติดต่อนำโดยยุงลาย ปี พ.ศ.2567 ประกอบด้วย

1. ขอให้ประชาชนทุกคน เจ้าของหรือผู้ครอบครอง อาคาร บ้านเรือน หรือสถานที่ของเอกชน หน่วยงานของรัฐ ดำเนินการสำรวจสิ่งต่อไปนี้

1.1 ภาชนะ อุปกรณ์ ของใช้ สิ่งของที่ใช้อยู่ในอาคารหรือนอกอาคารและมีน้ำขังอยู่ เช่น โอ่ง/ตุ่มน้ำ ถังซีเมนต์ในห้องน้ำ แจกัน ภาชนะเลี้ยงพลูด่าง ถ้วยรองขาตู้ จานรองกระถางต้นไม้ อ่างบัว อ่างเลี้ยงปลา เป็นต้น

1.2 เศษวัสดุ มูลฝอยหรือเศษสิ่งของที่มิได้ใช้แล้วในอาคารหรือนอกอาคารและมีน้ำขังอยู่ เช่น กระป๋อง ยางรถยนต์เก่า กระถาง ขวด เป็นต้น

2. หลังจากสำรวจภาชนะและเศษวัสดุตามข้อ 1 แล้วขอให้ประชาชน เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารหรือสถานที่ ดำเนินการควบคุมและกำจัดไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดย

2.1 หมั่นดูแลบริเวณอาคารหรือสถานที่ ทั้งภายในและภายนอก โดยเก็บ คว่ำ ทำลายปกปิดภาชนะต่าง ๆ ที่ไม่ได้ ใช้ประโยชน์

รวมถึงเศษวัสดุต่าง ๆ มิให้มีน้ำขัง

2.2 ภาชนะเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ หลังใช้งานต้องปิดฝาให้มิดชิดอยู่เสมอ และหมั่นสำรวจลูกน้ำหรือตัวโม่งยุงลายทุกสัปดาห์ หากพบให้กำจัดทันที

2.3 อ่างปลูกพืชน้ำ อ่างบัว ควรปล่อยปลากินลูกน้ำ จำพวกปลาหางกยูง ปลาสอดและหมั่นตรวจสอบให้มีปลาอยู่ในภาชนะเสมอ รวมทั้งจานรองกระถางต้นไม้ ให้ใส่ทรายเพื่อซึมซับน้ำ หรือเททิ้งทุกสัปดาห์ อย่าให้มีน้ำขังอยู่

2.4 ให้เปลี่ยนน้ำในภาชนะทุกสัปดาห์ เช่น น้ำในแจกัน ภาชนะเลี้ยงสัตว์ พลูด่าง น้ำในห้องน้ำ ห้องสุขาหรือภาชนะอื่นที่สามารถเปลี่ยนถ่ายน้ำได้สะดวกและควรขัดล้างขอบภาชนะก่อนเปลี่ยนถ่ายน้ำ เพื่อให้ไข่ยุงลายที่ติดอยู่ในภาชนะหลุด ไม่เป็นลูกน้ำได้อีก

2.5 จานรองตู้กับข้าว ควรใส่เกลือแกง น้ำส้มสายชูหรือผงชักฟอก และต้องใส่ให้ครอบคลุมทุกจานรองตู้กับข้าว เพื่อป้องกัน

ยุงลายวางไข่ และให้หมั่นตรวจสอบลูกน้ำทุกสัปดาห์

3. ร้านค้า สถานประกอบการที่เสี่ยงต่อการเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ได้แก่ ร้านขายยางรถยนต์ ร้านรับซื้อของเก่า

ร้านขายโอ่ง อ่าง กระถางต้นไม้ ร้านขายปลากัด รวมถึงชุมชนแออัดควรเน้นเรื่อง การกำจัดลูกน้ำยุงลายในภาชนะต่าง ๆ และการระบายน้ำในร่องน้ำ ในบ้านและในชุมชนอย่าให้มีน้ำขัง โดยให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอทุกสัปดาห์

ทั้งนี้ สสจ.เชียงราย ยังได้กำชับการดำเนินการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก โดยเน้นในเรื่อง (มาตรการ 4+1)

คือ 4 มาตรการหลัก และ 1 มาตรการเสริม ประกอบด้วย

มาตรการที่ 1 การเฝ้าระวังและยุงพาหะ ได้แก่ การติดตาม HI, CI ผ่านระบบ SMART อสม.การติดตามการรายงานผู้ป่วย

มาตรการที่ 2 การตอบโต้และควบคุมยุงพาหะ ได้แก่ การดำเนินการมาตรการ 3-3-1 การสำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์

ยุงลาย การสนับสนุนวิชาการ ควบคุม กำกับ ติดตามและประเมินผล

มาตรการที่ 3 การวินิจฉัยและรักษา วินิจฉัยผู้ป่วยโดยใช้ NS1 (Link กับ Web alert) , โรงพยาบาล

มาตรการที่ 4 การสื่อสารความเสี่ยง ได้แก่ การผลิตสื่อต้นแบบสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมาย รวมไปถึงร้านขายยาและ

สถานบริการทางการแพทย์ในการงดจ่ายยา NSAID การใช้กลไกคลินิกโรคเรื้อรัง เพื่อสื่อสารกลุ่มเสี่ยงป่วยรุนแรงและเสียชีวิต การพัฒนา HL อสม./อสต. และการสื่อสารความเสี่ยงไปยังกลุ่ม และสร้างความรับรู้ปรับพฤติกรรม HL ให้กับประชาชน

1.มาตรการเสริม คือ การใช้ยาทากันยุง ในผู้ป่วย เด็ก และผู้สูงอายุ

พร้อมกันนี้ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงราย ได้เน้นย้ำการประชาสัมพันธ์สร้างความรับรู้ให้แก่ประชาชน ตระหนัก ถึงอันตราย ความรุนแรง และอาการของโรคไข้เลือดออก และขอความร่วมมือการกำจัดและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย



   
   


View 10    19/06/2567   ข่าวรอบรั้วภูมิภาค    สำนักสารนิเทศ