สาธารณสุข เผยผลสำรวจล่าสุด พบเด็กนักเรียนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ มีปัญหาฟันผุร้อยละ 80 สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศถึงร้อยละ 20 เพราะปัญหาความไม่สงบ ทำให้เข้าถึงบริการยากขึ้น เร่งปรับยุทธศาสตร์บริการโดยร่วมกับศอ.บต. กรมการแพทย์ทหารบก จัดคาราวานทันตกรรมเคลื่อนที่ ให้บริการอุด ถอน ขูดหินปูน เคลือบหลุมร่องฟันให้เด็กนักเรียนและประชาชน ฟรี หมุนเวียนกันทุกเดือน
วันนี้ (14 มกราคม 2552) นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานเปิดมหกรรมทันตกรรมเคลื่อนที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ที่โรงเรียนอัตตัรกียะห์อิสลามมียะห์ อ.เมือง จ.นราธิวาส ว่า ขณะนี้เด็กนักเรียนและประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ มีความเสี่ยงเป็นโรคในช่องปากสุงกว่าพื้นที่ปกติทั่วไป เนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ต่อเนื่องหลายปี ทำให้ประชาชนมีโอกาสเข้าถึงบริการได้ยากลำบากขึ้น ผลการสำรวจในปี 2551 พบเด็กนักเรียนระดับประถมศึกษาใน จ.ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส กว่าร้อยละ 80 เป็นโรคฟันผุ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยประเทศที่พบร้อยละ 60 โดยที่จ.นราธิวาส พบเด็กประถมศึกษาฟันผุสูงถึงร้อยละ 87 ส่วนในเด็กเล็กอายุ 3 ปีมีฟันผุร้อยละ 86 โดยในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ปรับยุทธศาสตร์บริการ โดยร่วมมือกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. และสำนักงานสาธารณสุข 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ออกให้บริการถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน เคลือบหลุมร่องฟัน แก่เด็กและประชาชนถึงพื้นที่ฟรี ไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาลซึ่งคิวยาวและเสียเวลาเรียน
ตามโครงการนี้ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้จัดซื้อรถทันตกรรมเคลื่อนที่ พร้อมเครื่องมือทำฟันครบชุด จำนวน 11 ชุด มูลค่ากว่า 15 ล้านบาทให้กระทรวงสาธารณสุข โดยจัดทีมทันตกรรม ประกอบด้วย ทันตแพทย์ เจ้าพนักงานทันตสาธารณสุข ผู้ช่วยทันตแพทย์ จากโรงพยาบาลใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ และกรมการแพทย์ทหารบก อาสาสมัครมาช่วยงานจำนวนประมาณ 50 70 คน หมุนเวียนไปให้บริการที่โรงเรียนสอนศาสนา ในจ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคมนี้เป็นต้นไป โดยจะออกหน่วยจังหวัดละ 1 ครั้งเป็นประจำทุกเดือน ในวันสำคัญและเทศกาลต่าง ๆ
ผลการให้บริการที่ จ.ปัตตานี และยะลา เมื่อวันที่ 6 - 7 มกราคม 2552 ที่ผ่านมา มีนักเรียนและประชาชนละแวกใกล้เคียงมารับบริการเป็นจำนวนมาก จังหวัดละไม่ต่ำกว่า 1,000 คน ประชาชนพอใจมาก เพราะได้รับบริการใกล้บ้าน ได้มอบนโยบายให้ออกหน่วยเพิ่มเป็นครั้งละ 2 วัน เพื่อให้บริการประชาชนได้รับบริการมากที่สุด นายวิทยากล่าว
ทางด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า กองทันตสาธารณสุข กรมอนามัย ได้สรุปผลสำรวจสุขภาพช่องปากใน 16 จังหวัดทั่วทุกภาคและกรุงเทพมหานคร จำนวน 11,531 คน ในปี 2550 พบว่า เด็กอายุ 3 - 5 ปีฟันผุเฉลี่ยร้อยละ 71 เด็กวัยเรียนอายุ 12 ปีฟันผุร้อยละ 57 และสูงขึ้นเป็นร้อยละ 66 ในเด็กอายุ 15 ปี สาเหตุสำคัญมาจากกินขนมกรุบกรอบดื่มน้ำอัดลมและดื่มนมรสหวาน ส่วนในกลุ่มผู้ใหญ่อายุ 35-44 ปี พบสูญเสียฟันถึงร้อยละ 83 เฉลี่ยคนละ 4 ซี่ ขณะที่ผู้สูงอายุเกือบทุกคนมีการสูญเสียฟันเฉลี่ยคนละ 13 ซี่ เหลือฟันเคี้ยวอาหารเฉลี่ยคนละ 19 ซี่ โดยร้อยละ 10 สูญเสียฟันทั้งปาก
ที่สำคัญพบว่าต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคปริทันต์ ก็คือการสูบบุหรี่ ซึ่งคนทั่วไปยังรู้เรื่องนี้น้อย โดยความร้อนจากควันบุหรี่และน้ำมันดินหรือสารทาร์ที่อยู่ในบุหรี่ จะทำให้เหงือกอักเสบได้ง่ายขึ้น และสูญเสียฟันในที่สุด โดยผลการสำรวจครั้งนี้พบผู้ใหญ่ร้อยละ 38 และผู้สูงอายุร้อยละ 84 เป็นโรคเหงือกอักเสบจากการสูบบุหรี่
ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ในปี 2552 นี้ กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำโครงการส่งเสริมสุขภาพช่องปากและฟัน ครอบคลุมในทุกกลุ่มอายุ เริ่มดูแลตั้งแต่อยู่ในครรภ์ และจัดโครงการส่งเสริมการแปรงฟันถูกวิธี และเคลือบหลุมร่องฟันป้องกันฟันผุให้เด็กชั้นประถมปีที่ 1 ทั่วประเทศฟรี 400,000 คน และประกาศให้โรงเรียนส่งเสริมสุขภาพเป็นเขตปลอดน้ำอัดลมให้ได้ร้อยละ 70 ของโรงเรียนทั้งหมด ส่วนในผู้สูงอายุได้จัดทำโครงการฟันเทียมพระราชทานต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2552 2554 ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครบรอบ 84 พรรษา จำนวน 90,000 คน รวมทั้ง สนับสนุนให้ชมรมผู้สูงอายุมีการจัดกิจกรรมดูแลสุขภาพช่องปากและฟัน
************************************ 14 มกราคม 2552
View 11
14/01/2552
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ