สาธารณสุข เร่งปรับโฉมโรงพยาบาลในสังกัด ฟื้นฟูความสัมพันธ์หมอกับผู้ป่วยและญาติ โดยดึงคนนอกรั้วหลากสาขาอาชีพ ร่วมเป็นคณะอนุกรรมการบริหารโรงพยาบาล พัฒนาปรับพฤติกรรมบริการเจ้าหน้าที่ให้บริการที่เต็มเปี่ยมด้วยน้ำใจไมตรี และให้เร่งคลี่คลายทุกข์ สร้างความยุติธรรมให้ผู้ป่วยและญาติหลังมีปัญหาทันที นายแพทย์ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจเยี่ยมศูนย์สันติวิธีสาธารณสุข ที่โรงพยาบาลพุทธชินราช จ.พิษณุโลก และโรงพยาบาลสุโขทัย ว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขเร่งแก้ไขปัญหาการฟ้องร้องแพทย์ เพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนในภาพรวม โดยมีนโยบายให้โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป 98 แห่งทั่วประเทศ จัดตั้งศูนย์สันติวิธีสาธารณสุข เป็นช่องทางหลักรับเรื่องร้องเรียนของประชาชนจากการใช้บริการ และเร่งแก้ไขคลี่คลายความกังวลใจอย่างรวดเร็วที่สุด เพื่อป้องกันและยุติความขัดแย้ง ไม่ให้ปัญหาบานปลายถึงขั้นต้องฟ้องร้องศาล โดยผู้รับบริการและผู้ให้บริการได้รับความยุติธรรมทั้งสองฝ่าย นายแพทย์ศิริวัฒน์ กล่าวว่า จากการรับฟังสภาพปัญหาทั้ง 2 แห่ง พบว่าในปี 2551 มีเรื่องร้องเรียนที่รพ.พุทธชินราช 63 ครั้ง ที่รพ.สุโขทัย 113 ครั้ง ซึ่งศูนย์สันติวิธี หรือบางแห่งเรียก ห้องสบายใจ สามารถสร้างความเข้าใจกันได้อย่างดี ไม่ถึงขั้นต้องฟ้องร้อง เนื่องจากปัญหาส่วนใหญ่ร้อยละ 80 มาจากพฤติกรรมบริการของเจ้าหน้าที่ แต่ประเด็นที่น่าห่วงและเป็นความเสี่ยงหลัก อาจสร้างความไม่พึงพอใจแก่ผู้ใช้บริการได้ง่ายคือ การขาดแคลนบุคลากร เจ้าหน้าที่ทุกคนมีภาระงานหนัก บริการล้นมือ โดยเฉพาะแพทย์ พยาบาล ต้องทำงานเยี่ยงกรรมกรทางการแพทย์ ถูกเรียกใช้งานตลอด 24 ชั่วโมง เพราะมีจำนวนไม่สมดุลกับปริมาณผู้ป่วย ต้องเร่งสร้างความเข้าใจกับประชาชน ทั้งนี้ การศึกษาสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยและญาติฟ้องร้องศาลที่ผ่านมาเกิดจาก 3 เรื่อง ได้แก่ รู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม ความสัมพันธ์ที่ไม่ดี และต้องการให้มีการปรับปรุงแก้ไขข้อผิดพลาด ไม่ให้เกิดซ้ำอีก นายแพทย์ศิริวัฒน์ กล่าวต่อว่า ในการแก้ไขและป้องกันปัญหาการฟ้องร้อง และพัฒนาระบบบริการให้เป็นที่พึงพอใจของประชาชน ในปี 2552 นี้ กระทรวงสาธารณสุขจะเพิ่มการดำเนินงานเชิงรุก ลดช่องว่างปัญหาให้เหลือน้อยที่สุดหรือไม่มีเลย โดยได้มอบนโยบายให้โรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศ เน้นหนักพัฒนาใน 3 เรื่อง คือ 1.ให้ตั้งคณะอนุกรรมการบริหารโรงพยาบาลเพิ่มอีก 1 ชุด โดยดึงบุคคลภายนอก เช่น พระสงฆ์ พ่อค้า อัยการ สื่อมวลชน อสม. ผู้บริหารส่วนท้องถิ่น นักการเมือง ผู้ที่เป็นที่เคารพนับถือในจังหวัด ตำรวจ ผู้บริหารการศึกษา ร่วมเป็นกรรมการ เพื่อรับรู้สภาพภาระงานของโรงพยาบาลที่แท้จริง และให้ความรู้เรื่องเหตุสุดวิสัยที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตที่สังคมขาดความเข้าใจ เช่น ปัญหาน้ำคร่ำอุดตันที่ปอดในหญิงคลอด ซึ่งพบไม่บ่อยแต่ป้องกันได้ยาก เพื่อให้มีความเข้าใจยิ่งขึ้น แต่ยังเน้นการให้ความเป็นธรรมทุกฝ่ายเป็นหัวใจหลัก 2.เร่งสร้างพฤติกรรมเจ้าหน้าที่ ให้บริการด้วยน้ำใจ ติดตามเยี่ยมเยียนหลังมีปัญหา และ 3.ใช้วิธีการบริหารความเสี่ยงและเร่งแก้ไขให้คลี่คลายโดยเร็ว มั่นใจว่าจะลดข้อขัดแย้งต่างๆ และความสัมพันธ์ระหว่างบุคลากรทางการแพทย์กับผู้ป่วยจะดีขึ้นเรื่อยๆ ทางด้านนายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา ผู้อำนวยการศูนย์สันติวิธี กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า งานของศูนย์สันติวิธีนับวันจะมีความสำคัญมากขึ้น เนื่องจากความคาดหวังต่อระบบริการสาธารณสุขมีมากขึ้น แต่ความไว้วางใจลดลง ขณะนี้ศูนย์ฯ ได้อบรมและพัฒนาเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ ในการรับเรื่องร้องเรียนทั่วประเทศ ประมาณ 1,000 คน ในปี 2552 จะพัฒนาให้เข้าสู่ระบบและสร้างความเข้มแข็งมากขึ้น โดยอยู่ระหว่างยกร่างระเบียบการทำงานให้เป็นทิศทางเดียวกัน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย คาดจะประกาศใช้ในเร็วๆ นี้ นอกจากนี้ จะอบรมหลักสูตรการจัดการความขัดแย้งโดยวิธีการเจรจาไกล่เกลี่ย และหลักสูตรการพัฒนาศักยภาพพนักงานเจรจาไกล่เกลี่ย รวมทั้งจัดประชุมวิชาการ เพื่อสร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพิ่มทักษะความชำนาญให้เจ้าหน้าที่มากยิ่งขึ้น ****************************13 มกราคม 2552


   
   


View 8    13/01/2552   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ