สาธารณสุข มอบของขวัญชิ้นโบว์แดงเด็กไทย ลงทุน 1,200 ล้านบาทเพิ่มต้นทุนเด็กไทย ดูแลตั้งแต่อยู่ในครรภ์แม่ เปิดเคล็ดลับการเลี้ยงดูลูกด้วยบัญญัติ 5 ประการ ผลิตนิทานเรื่องเล่ากระตุ้นอีคิวไอคิวเด็ก และผลิตนิทานสอนโรค ชูสเปคเด็กไทยในศตวรรษ 21 ต้อง “สูง 175 ซม. ไม่อ้วน ไอคิว 110 จุด ใจดี รักสุขภาพ รักสิ่งแวดล้อม” วันนี้ (7 มกราคม 2552) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา อธิบดีกรมอนามัย นายแพทย์ หม่อมหลวงสมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นายแพทย์ชาตรี บานชื่น อธิบดีกรมสุขภาพจิต และนายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกันแถลงข่าว “สธ. มอบของขวัญวันเด็ก ปี 2552” นายวิทยากล่าวว่า ในโอกาสวันเด็กแห่งชาติประจำปี 2552นี้ กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำโครงการพิเศษ เพื่อมอบเป็นของขวัญให้เด็กไทยทุกคน เป้าหมายสำคัญคือให้เด็กไทยมีสุขภาพดี ทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสติปัญญา โดยได้ผนึกกำลังกรมวิชาการต่างๆ ร่วมกันพัฒนา ได้แก่ กรมอนามัย กรมควบคุมโรค กรมสุขภาพจิต และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จัดทำโครงการพัฒนาคุณภาพเด็กไทยแบบบูรณาการ ตั้งเป้าเด็กไทยในศตวรรษที่ 21 เมื่ออายุ 14-15 ปีจะต้องมีความสูง 175 เซนติเมตรเป็นอย่างต่ำ ไม่อ้วน มีไอคิวเฉลี่ย 110 จุด มีจิตใจดี รักสุขภาพและรักสิ่งแวดล้อม โดยเด็กไทยขณะนี้มีความสูงเฉลี่ย 165 เซนติเมตร มีไอคิวเฉลี่ย 103 จุด จากการประเมินต้นทุนของเด็กไทยที่ผ่านมาพบว่า ยังไม่ทัดเทียมกับสากล ปัญหาที่พบตั้งแต่เริ่มอูแว้ก็คือเด็กน้ำหนักตัวน้อยกว่ามาตรฐานคือ 2,500 กรัม มีปีละเกือบ 90,000 ราย เด็กกลุ่มนี้เกิดจากการขาดสารอาหารขณะอยู่ในครรภ์ แม่ขาดวิทตามินเอ เหล็ก กรดโฟลิก และสังกะสี และทารกคลอดก่อนกำหนด ผลกระทบตามมาจะทำให้เสียชีวิตง่ายในช่วง 1 เดือนแรก เจ็บป่วยง่าย ทั้งปัญหาน้ำตาลในเลือดต่ำ ปอดบวม มีพัฒนาการล่าช้า และเรื่องที่คนทั่วๆ ไปคาดไม่ถึงก็คือ เด็กกลุ่มนี้เมื่อโตขึ้นจะเสี่ยงเป็นโรคเรื้อรัง ที่สำคัญคือ เบาหวาน โรคอ้วน โรคหลอดเลือดหัวใจ เนื่องจากผลกระทบจากกลไกการปรับตัวของร่างกาย โดยเฉพาะตับอ่อน จะทำงานหนักขึ้น เพราะขณะอยู่ในครรภ์อวัยวะนี้เคยทำงานน้อยเพราะได้อาหารน้อยมาก่อน แต่พอโตขึ้นได้รับสารอาหารมาก จนอวัยวะทำงานไม่ไหวและวายในที่สุด ในการแก้ปัญหานี้ ในปี 2552 นี้ กรมอนามัยได้จัดงบ 1,200 ล้านบาท เริ่มดูแลตั้งแต่เด็กยังอยู่ในครรภ์ โดยได้พัฒนาการดูแลครรภ์ ให้ฝากครรภ์ทันที และให้หญิงตั้งครรภ์ทุกคนซึ่งมีปีละ 800,000 คน กินวิตามินรวม ซึ่งมีสารอาหารสำคัญ ได้แก่ กรดโฟลิก สังกะสี วิตามินเอ แคลเซียม ไอโอดีน กินยาเม็ดธาตุเหล็กและกรดโฟลิก อย่างละ 1 เม็ด วันละ 1 ครั้ง จนกระทั่งครรภ์ครบกำหนด 9 เดือนฟรี ซึ่งการได้รับธาตุเหล็กจะลดปัญหาคลอดก่อนกำหนด กรดโฟลิกช่วยลดความพิการของหลอดประสาท สังกะสีจะช่วยเพิ่มภูมิต้านทาน เสริมการทำงานของฮอร์โมนช่วยเจริญเติบโต แคลเซียมจะช่วยสร้างกระดูกเด็กในครรภ์ ลดความเสี่ยงครรภ์เป็นพิษ (Toxemia of Pregnancy) ส่วนไอโอดีนจะช่วยพัฒนาระบบประสาท ไม่เป็นโรคปัญญาอ่อน ขณะนี้คลินิกฝากครรภ์ในโรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่งพร้อมให้บริการแล้ว ในการพัฒนาไอคิว อีคิว กรมสุขภาพจิต ร่วมกับเครือข่ายและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดทำโครงการ“พัฒนาสติปัญญาเด็กไทย” เพื่อเสริมสร้างให้เด็กไทย มีความสามารถในการเรียนรู้ เป็นคนดี เป็นคนเก่ง มีคุณภาพทั้งด้านสติปัญญา อารมณ์ สังคม และจริยธรรม จากการศึกษาพบว่า ปัจจัยสำคัญที่พ่อแม่สามารถช่วยส่งเสริมสติปัญญาและอีคิวของลูก ด้วยบัญญัติ 5 ประการ เป็นเคล็ดลับจำง่าย ได้แก่ รักลูกให้สัมผัส กอดรัดกันทุกวัน ขยันถามอยู่เป็นนิจ ช่วยลูกคิดหาคำตอบ ครอบครัวนักอ่าน รอบบ้านมีหนังสือ หมั่นซื้อนมให้ลูก ปลูกนิสัยออกกำลังกาย เสริมปัญญา ท้าทายลูกด้วยเกมวางแผน โดยในปี 2552 กรมอนามัยจะผลิตนิทานแจกศูนย์เด็กเล็ก 30,000 แห่ง จำนวน 1 แสนเล่ม นอกจากนี้ กรมควบคุมโรค จะทำโครงการป้องกันโรคติดเชื้อในศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาล นำร่อง 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย อยุธยา อุบลราชธานี สุราษฎร์ธานี เพื่อลดโรคติดต่อยอดฮิตในเด็กเล็ก 3 โรค ได้แก่ โรคมือเท้าปาก โรคปอดบวม อุจจาระร่วง ซึ่งยังไม่มีวัคซีนที่มีประสิทธิผลดีพอในการป้องกัน ทำให้มีเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ป่วยจาก 3 โรคนี้ปีละมากกว่า 1 แสนราย ในโครงการนี้จะพัฒนาการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคในศูนย์เด็กเล็ก พัฒนาศักยภาพครูพี่เลี้ยง และผลิตนิทานการ์ตูนสอนการป้องกันโรคเป็นครั้งแรกในประเทศ เพื่อให้ครูพี่เลี้ยงใช้ในกิจกรรมดูแลเด็ก รวมทั้งยังมีเพลงเด็กๆ เพื่อแสดงการป้องกันโรคง่ายๆ ปีนี้ผลิต 2,000 เล่ม หากประเมินผลแล้วได้ผลดี ก็จะขยายผลทั่วประเทศ สำหรับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ให้บริการคัดกรองทารกแรกเกิดจำนวน 800,000 รายในแต่ละปี เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กเป็นปัญญาอ่อน จากสาเหตุภาวะพร่องธัยรอยด์ฮอร์โมนแต่กำเนิด โดยแต่ละปีสามารถป้องกันเด็กไทยไม่ให้เป็นโรคปัญญาอ่อนได้ปีละ 500 คน ช่วยลดการสูญเสียทางเศรษฐกิจปีละ 500-600 ล้านบาท นอกจากนี้ได้จัดทำโครงการ “อาหารปลอดภัย เด็กไทยฉลาด” เป็นการขยายการใช้ชุดทดสอบอย่างง่ายไปในโรงเรียน ให้เด็กนักเรียนตรวจเป็น เลือกบริโภคอาหารที่ปลอดภัย ที่ผ่านมาพบเด็กป่วยโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันและอาหารเป็นพิษ ระหว่างปี 2546-2550 รวมกว่า 2.6 ล้านราย เสียชีวิต 115 ราย และยังพบอาหารเป็นพิษเกิดที่โรงเรียนมากกว่าปีละ 20 ครั้ง ส่วนใหญ่เป็นอาหารกลางวันที่โรงเรียนจัดเตรียมไว้ให้เด็ก โดยในวันเด็กแห่งชาติวันที่ 10 มกราคม 2552 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และกรมอนามัยจะไปจัดนิทรรศการ กิจกรรม เกมส์ ให้เด็กๆ เล่น ที่สนามศุภชลาศัย ***************************** 7 มกราคม 2552


   
   


View 12    07/01/2552   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ