สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร โปรดเกล้าฯส่งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่พระราชทาน ดูแลรักษาพยาบาล ป้องกันโรคผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมที่จังหวัดยะลา นราธิวาส และพัทลุง เผยขณะนี้ให้บริการ ผู้เจ็บป่วยแล้ว 1,070 ราย ส่วนใหญ่เป็นไข้หวัด กำชับให้เฝ้าระวังโรคระบาดที่มากับน้ำท่วม วันนี้ (6 มกราคม 2552) นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมระลอกที่ 2 ในจังหวัดภาคใต้ 3 จังหวัด ได้แก่ นราธิวาส ยะลา พัทลุง ว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้โปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงสาธารณสุขจัดหน่วยแพทย์พระราชทานเคลื่อนที่ ออกให้บริการตรวจรักษาประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมในจังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ที่จังหวัดยะลา นราธิวาส และพัทลุง อย่างเต็มที่ จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ปกติ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่ผู้ประสบภัยอย่างหาที่สุดมิได้ ในวันที่ 5 มกราคม 2552 หน่วยแพทย์เคลื่อนที่พระราชทานในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร จากโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน และสถานีอนามัย ในจังหวัดนราธิวาสและยะลา ได้ออกบริการประชาชนจำนวน 4 ครั้ง มีประชาชนเจ็บป่วยทั้งหมด 721 ราย เป็นไข้หวัด 188 ราย ระบบทางเดินอาหาร 86 ราย ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ 85 ราย โรคผิวหนัง 35 ราย และจ่ายยาตำราหลวงช่วยเหลือเบื้องต้น จำนวน 2,163 ชุด ส่วนที่จังหวัดนราธิวาสมีประชาชนได้รับบริการไปแล้ว 349 ราย ส่วนใหญ่เป็นไข้หวัด ไม่มีรายใดมีอาการหนัก นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวต่อไปว่า กระทรวงสาธารณสุขได้สนับสนุนงบประมาณตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา 5 ล้านกว่าบาท และจัดส่งยาชุดตำราหลวงให้หน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ นำไปแจกจ่ายผู้ประสบภัยเพื่อใช้ดูแลสุขภาพเบื้องต้น 50,000 ชุด และยารักษาโรคน้ำกัดเท้า 15,000 หลอด และได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดออกปฏิบัติงานดูแลสุขภาพประชาชนอย่างต่อเนื่อง จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมสำรองยาและเวชภัณฑ์สนับสนุนอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเฝ้าระวังป้องกันไม่ให้เกิดโรคระบาดที่มากับน้ำท่วม โดยเฉพาะโรคอุจจาระร่วง โรคตาแดง ซึ่งมีความเสี่ยงในการเกิดโรคสูง เนื่องจากขาดแคลนน้ำสะอาด ขณะนี้ยังไม่มีรายงานผู้ป่วยแต่อย่างใด ในการป้องกันไม่ให้ป่วยจากโรคที่มากับน้ำท่วม ขอให้ผู้ประสบภัยหลีกเลี่ยงการเดินเท้าเปล่าย่ำลุยน้ำ เพื่อป้องกันโรคน้ำกัดเท้าและเกิดบาดแผลจากเหยียบถูกวัตถุมีคมที่จมอยู่ในน้ำ รีบล้างเท้าให้สะอาดและเช็ดให้แห้ง โดยเฉพาะผู้ที่มีบาดแผลที่เท้าควรใส่รองเท้าบู้ทป้องกันน้ำเข้าแผล เพราะในน้ำท่วมมีเชื้อโรคและสิ่งปนเปื้อนจำนวนมาก และต้องทำแผลที่หน่วยแพทย์เคลื่อนที่หรือที่สถานพยาบาลที่อยู่ใกล้บ้านทุกวัน รวมทั้งให้ดื่มน้ำต้มสุกหรือน้ำดื่มบรรจุขวดที่มีเครื่องหมาย อ.ย. ล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาดหลังจากขับถ่ายและก่อนรับประทานอาหาร รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ด้วยความร้อน ซึ่งความร้อนจะฆ่าทำลายเชื้อโรคที่ปนเปื้อนอยู่ในอาหาร ป้องกันโรคอุจจาระร่วงได้ นายแพทย์ปราชญ์ กล่าว


   
   


View 8    06/01/2552   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ