อย. ย้ำ! ซื้อเครื่อง CPAP ต้องมีใบสั่งแพทย์เท่านั้น
- สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
- 23 View
- อ่านต่อ
กรมการแพทย์ โดยโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี เตือนประชาชนระมัดระวังสภาวะอากาศร้อนจัด ทุกภาคของไทยมีโอกาสอุณหภูมิสูงสุดเกิน 40 องศาเซลเซียส ช่วงกลางเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนพฤษภาคม จะมีอากาศร้อนจัดต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจทําให้เกิดภัยและโรคที่มีสาเหตุมาจากอากาศร้อน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงและเปราะบาง เช่น ผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง ผู้ป่วย ผู้สูงอายุและเด็ก
นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่าช่วงนี้อากาศร้อนอบอ้าว โดยเฉพาะคนที่ทำงานในที่แจ้ง เช่นคนงานก่อสร้าง หรือ คนงานในเหมืองหินเปิด อาการร้อนจะมีผลต่อสุขภาพในแง่ลบ ซึ่งเป็นผลจากอากาศร้อน นอกจากอาการทางกายแล้ว การทำงานในที่มีอากาศร้อนจะทำให้สมาธิเสีย และไม่สามารถทำงานที่ใช้ความชำนาญได้เต็มที่ ยังทำให้เกิดอุบัติเหตุได้อีกด้วย คนปกติจะมีปฏิกิริยาต่อความร้อนคล้าย ๆ กัน แต่ในผู้สูงอายุ คนที่เป็นโรคเรื้อรังเช่นความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคไต หรือในคนอ้วน จะมีความทนต่อความร้อนได้น้อยกว่า โรคที่เกิดจากความร้อนได้แก่ การบวมที่ข้อเท้าเนื่องจากเส้นเลือดที่ผิวพยายามขยายตัวเพื่อระบายความร้อนออกจากร่างกาย ทำให้ใส่รองเท้าคับขึ้น เป็นผื่นแดด เกิดจากรูเหงื่อที่ขุมขนถูกปิดกั้น อาการที่รุนแรงขึ้นคือเป็นตะคริวแดด เกิดจากการเสียสมดุลของเกลือแร่จากการที่มีเหงื่อออกมาก อาการที่ต้องระวังคืออาการเพลียแดด ซึ่งเกิดจากการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ไปมาก โดยจะมีเหงื่อออกมาก ตาพร่า กระหายน้ำมาก เพลีย มึนงง ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ใจสั่น หายใจลำบาก ซึ่งเมื่อมีอาการเหล่านี้ต้องระวังเพราะจะกลายเป็นลมและเป็นลมแดดได้อย่างรวดเร็ว การเป็นลมแดด คือการที่ร่างกายขาดเลือดไปเลี้ยงสมอง และอวัยวะอื่นๆ จากความร้อนโดยอาการที่เป็นมากคือตัวร้อนแต่ไม่มีเหงื่อ ระยะนี้อาจส่งผลอันตรายต่อชีวิตได้ ซึ่งประชาชนจะต้องสังเกตตัวเองตั้งแต่เริ่มมีอาการเพลียแดดดังกล่าว และจะต้องหยุดงาน และหลบเข้าร่ม คลายเสื้อผ้าให้ลมผ่านตัว หรืออาบน้ำเย็น
นายแพทย์เกรียงไกร นามไธสง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กล่าวเสริมว่าผู้ที่ควรตระหนักถึงปัญหาสำคัญนอกจากผู้ที่ทำงานกลางแจ้งแล้วยังรวมถึงนายจ้าง ผู้จ้างงาน ไม่ควรให้ลูกจ้างทำงานในที่แจ้งนานๆ หรือทำงานในที่ซึ่งมีความร้อน ทั้งนี้ให้ใช้กฎกระทรวงเรื่องกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับความร้อน แสงสว่าง และเสียง พ.ศ. 2559 ไม่ควรให้ลูกจ้างที่อายุมาก หรือมีโรคประจำตัวทำงานกลางแจ้ง หรือในสถานที่ร้อน เช่นบริเวณหลอมเหล็ก หรือการระบายอากาศไม่ดีนานเกินไป ควรมีการบริหารจัดการผลัดเปลี่ยน มีน้ำเย็นให้ดื่ม มีพัดลมระบายอากาศ และไม่ควรทำงานกลางแจ้งในเวลาบ่าย ซึ่งเป็นเวลาที่อากาศร้อนจัด
………………………………………………
# กรมการแพทย์ # โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี # สภาวะอากาศร้อนจัด ภัยอันตรายต่อคนทำงานกลางแจ้ง
- ขอขอบคุณ -
26 เมษายน 2567