กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข เผยผลการเฝ้าระวังพฤติกรรมที่อาจทำให้เกิดความเสี่ยงด้านสุขภาพในช่วงสงกรานต์ พบประชาชนวางแผนที่จะเดินทาง ร้อยละ 75.5ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร้อยละ 33.8 ไปสถานที่เสี่ยง ร้อยละ 24.7 และทำทั้ง 3 พฤติกรรม ร้อยละ 12.9

          นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า กรม สบส. โดยกองสุขศึกษา ได้ดำเนินการเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพ “พฤติกรรมที่อาจจะทำให้เกิดความเสี่ยงด้านสุขภาพในช่วงสงกรานต์” เก็บข้อมูลตั้งแต่ 18 มีนาคม - 1 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา โดยร่วมกับเครือข่ายเฝ้าระวังพฤติกรรมผ่านระบบออนไลน์ จากผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 47,223 คน กระจายทุกภูมิภาคทั่วประเทศ เป็นเพศหญิง ร้อยละ 70.7 เพศชาย ร้อยละ 28.6 เฉลี่ยอายุ 47 ปี พบว่า ประชาชนวางแผนเดินทาง ร้อยละ 75.5 โดยส่วนใหญ่จะเดินทางไปทำบุญ ร้อยละ 63.1 และเดินทางไปหาเพื่อน ญาติ พี่น้อง ร้อยละ 45 วางแผนดื่มแอลกอฮอล์ ร้อยละ 33.8 โดยเป็นการดื่มอยู่บ้าน 31.8 และไปสังสรรค์นอกบ้าน ร้อยละ 14 วางแผนจะเดินทางไปสถานที่เสี่ยง ร้อยละ 24.8 โดยจะไปเล่นน้ำสงกรานต์ตามสถานที่ยอดฮิตในพื้นที่ ร้อยละ 19.1 ไปที่ที่มีมหรสพบันเทิง ร้อยละ 15 นอกจากนี้ ยังพบว่าประชาชนจะทำทั้ง 3 อย่าง คือวางแผนจะเดินทาง ดื่มแอลกอฮอล์ และไปสถานที่เสี่ยง ร้อยละ 12.9 ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าว อาจนำมาซึ่งความรุนแรง ทำให้สูญเสียทรัพย์ และส่งผลเสียต่อสุขภาพ

          นพ.สุระ อธิบดีกรม สบส. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ ขอให้ประชาชนยึดหลักสุขบัญญัติ ในข้อ 5 งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อลดอุบัติเหตุ ข้อ 6 สร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว เช่น การรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ การขอพร ที่แสดงถึงความเคารพ ความกตัญญูต่อพ่อแม่ ผู้ใหญ่ หรือผู้มีพระคุณถือเป็นการสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวให้อบอุ่น มีความสุขมากยิ่งขึ้น และเป็นการสืบสานประเพณีอันดีงามของไทย และข้อ 7 ป้องกันอุบัติเหตุด้วยการไม่ประมาท มีวินัยในการขับขี่ ไม่ขับรถเร็วเกินที่กฎหมายกำหนด ปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะผู้ที่เมาแล้วไม่ควรขับขี่รถออกนอกบ้านแม้ว่าจะอยู่ในระยะใกล้ก็ตาม เพื่อลดอุบัติเหตุและการเสียชีวิตได้



   
   


View 133    11/04/2567   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสารนิเทศ