กระทรวงสาธารณสุข สั่งโรงพยาบาลทุกแห่ง เตรียมพร้อมแพทย์ พยาบาล สำรองคลังเลือดและอุปกรณ์การแพทย์ รับมืออุบัติเหตุช่วง 7 วันอันตรายเทศกาลปีใหม่ 2552 พร้อมส่งเจ้าหน้าที่ร่วมตั้งจุดตรวจวัดความสุข บริการตรวจร่างกาย นวดคลายเมื่อย และคุมเข้มกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หลังปีใหม่ 2551 พบการฝ่าฝืนเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า ด้านสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ยืนยันความพร้อม 100 เปอร์เซ็นต์ ประชาชนโทรขอความช่วยเหลือได้ฟรีที่หมายเลข 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง วันนี้ (25 ธันวาคม 2551) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กทม. นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์หม่อมหลวงสมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นายแพทย์นรา นาควัฒนานุกูล อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทย และนายแพทย์ชาตรี เจริญชีวะกุล เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ร่วมกันแถลงข่าว “ความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2552” นายวิทยา กล่าวว่า ที่ผ่านมาในช่วงวันหยุดเทศกาลต่างๆ จะพบว่ามีการเกิดอุบัติเหตุจราจรสูงกว่าช่วงปกติกว่า 2 เท่า โดยเฉพาะเทศกาลที่มีวันหยุดติดต่อกันหลายวัน เช่น สงกรานต์ ปีใหม่ เนื่องจากมีการเดินทาง ใช้รถใช้ถนนกันมาก และยังมีการดื่มแอลกอฮอล์เฉลิมฉลองร่วมด้วย ดังนั้น ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2552 ที่กำลังจะมาถึง กระทรวงสาธารณสุขจึงได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดทั่วประเทศ เตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อรองรับอุบัติเหตุจราจรที่อาจเกิดขึ้น ตลอดช่วง 7 วันอันตราย เริ่มตั้งแต่ 30 ธันวาคม 2551-5 มกราคม 2552 และมอบหมายให้ผู้บริหารระดับสูงส่วนกลาง ติดตามดูแลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่อย่างใกล้ชิด โดยตนเองมีแผนที่จะออกไปเยี่ยมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ ที่จังหวัดจันทบุรีและตราด ในวันที่ 31 ธันวาคมนี้ด้วย ทั้งนี้ ในการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ หน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขจะร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่ ตั้งจุดตรวจวัดความสุขในจุดเสี่ยงต่างๆ บริการตรวจร่างกายเบื้องต้น ผ้าเย็น น้ำดื่ม นวดไทยลดความเมื่อยล้า ส่วนการรักษาพยาบาล โรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่งได้เตรียมทีมแพทย์ พยาบาล และสำรองคลังเลือด วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ ในห้องฉุกเฉิน ห้องผ่าตัด ห้องไอซียู รวมทั้งซักซ้อมระบบประสานงานส่งต่อผู้ป่วยเพื่อรองรับอุบัติเหตุหมู่ สำหรับการรายงานข้อมูลผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิต จะรวบรวมส่งให้ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่ และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ วิเคราะห์ข้อมูลรายวัน เสนอศูนย์ปฏิบัติการร่วมฯ ส่วนกลาง และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เพื่อนำมาแก้ไขปัญหาอย่างทันสถานการณ์ นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังเก็บข้อมูลการบาดเจ็บ เสียชีวิต และพฤติกรรมเสี่ยงของผู้บาดเจ็บรุนแรง เพื่อนำมาพัฒนาระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน และแก้ปัญหาการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจรให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นด้วย ด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการวิเคราะห์อุบัติเหตุจราจรช่วงเทศกาลปีใหม่ 2551 พบว่ารถจักรยานยนต์ ยังเป็นพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุดถึงร้อยละ 85 ที่น่าเป็นห่วงคือ ผู้บาดเจ็บรุนแรงที่เป็นเด็ก ร้อยละ 71 มีอายุต่ำกว่า 15 ปี ซึ่งเป็นวัยที่ยังไม่มีใบอนุญาตขับขี่ตามกฎหมาย โดยอายุน้อยที่สุดเพียง 10 ขวบเท่านั้น และยังพบว่าเด็กที่บาดเจ็บรุนแรงขับขี่จักรยานยนต์โดยไม่สวมหมวกนิรภัยสูงขึ้น จากร้อยละ 89 ในปี 2550 เป็นร้อยละ 96 ทั้งนี้ จากข้อมูลตั้งแต่ปี 2545-2551 พบว่า คืนวันที่ 31 ธันวาคมของทุกปี เป็นช่วงที่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุสูงสุด เฉลี่ย 106 รายหรือประมาณชั่วโมงละ 5 ราย โดยช่วงที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดคือ 16.01–20.00 น. ส่วนใหญ่เป็นถนนสายรองนอกเขตทางหลวง ร้อยละ 66 และมากสุดในช่วงที่เป็นทางตรง ผู้ขับขี่จึงควรระมัดระวังให้มากขึ้น ต้องคาดเข็มขัดนิรภัย สวมหมวกนิรภัย ไม่ดื่มสุรา และไม่โทรศัพท์ขณะขับขี่ด้วย นายแพทย์หม่อมหลวงสมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เทศกาลปีใหม่ 2551 ที่ผ่านมา พบว่าการเมาสุราเป็นสาเหตุทำให้เกิดอุบัติเหตุเกิดมากที่สุดร้อยละ 41 โดยผู้บาดเจ็บรุนแรงจากอุบัติเหตุจราจร ดื่มสุราก่อนขับขี่พาหนะทุกประเภทถึงร้อยละ 57 สูงสุดในผู้ขับขี่จักรยานยนต์ร้อยละ 60 และจากการสุ่มสำรวจการขายสุราใน 32 จังหวัด รวม 843 แห่ง พบการฝ่าฝืนกฎหมายจำหน่ายสุราในสถานที่ห้ามขาย ได้แก่ ปั๊มน้ำมัน ศาสนสถาน สถานศึกษา และบริเวณที่ติดกับสถานที่ดังกล่าว ร้อยละ 16 โดยปั๊มน้ำมันยังเป็นที่ที่มีการฝ่าฝืนมากที่สุด ร้อยละ 19 ส่วนการขายสุรานอกเวลาที่กฎหมายกำหนดคือ 11.00–14.00 น. และ 17.00-24.00 น. พบมีการฝ่าฝืน ร้อยละ 53 เพิ่มขึ้น 3 เท่าจากช่วงปีใหม่ 2550 ดังนั้น ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2552 นี้ จะประสานหน่วยงานเกี่ยวข้องเข้มงวดการบังคับใช้กฎหมายมากขึ้น โดยประชาชนที่พบเห็นผู้กระทำผิดกฎหมายจำหน่ายสุราในสถานที่ และเวลาที่ห้ามขาย รวมทั้งการเร่ขาย การโฆษณา การลด แลก แจก แถมเพื่อส่งเสริมการขาย ขอให้แจ้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนบุหรี่และสุรา สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โทร. 02-590-3342 นายแพทย์นรา นาควัฒนานุกูล อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ผู้ที่ขับขี่ยานพาหนะตั้งแต่ 2 ชั่วโมงขึ้นไป สมาธิจะลดลงเรื่อยๆ เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุมากขึ้น จึงควรหยุดพักเป็นระยะเพื่อผ่อนคลาย และหากได้นวดผ่อนคลายกล้ามเนื้อ หรือได้หลับช่วงระยะเวลาสั้นๆ จะยิ่งทำให้รู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่า เดินทางต่อได้อย่างปลอดภัย เพราะการนวดจะช่วยกระตุ้นให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น กล้ามเนื้อคลายตัว ที่ผ่านมาได้จัดโครงการเหนื่อยนักพักนวด เปิดให้บริการนวดในสถานีบริการน้ำมันบางจาก 22 แห่งทั่วประเทศ สำหรับปีนี้ จะเพิ่มพนักงานนวดร่วมให้บริการที่จุดตรวจรับความสุขตามแผนที่กระทรวงกำหนด ซึ่งจะเป็นทางหนึ่งที่ช่วยลดการใช้สารกระตุ้นต่อร่างกายได้เป็นอย่างดี ด้านนายแพทย์ชาตรี เจริญชีวะกุล เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า ขณะนี้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ และหน่วยงานในเครือข่าย มีความพร้อมในการให้บริการอย่างเต็มที่ โดยในส่วนกลางได้จ้ดทีมแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ ประจำศูนย์ตลอด 24 ชั่วโมง และตรวจสอบความพร้อมระบบการสื่อสาร การประสานงานและสั่งการ ระหว่างส่วนกลางกับเครือข่ายสถานบริการในแต่ละจังหวัด นอกจากนี้ ได้ประสานงานกับกองบินตำรวจและ ร.พ.ตำรวจ จัดเตรียมเฮลิคอปเตอร์พร้อมแพทย์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อนำส่งผู้ประสบอุบัติเหตุสาหัสไปยังโรงพยาบาลที่มีศักยภาพในการรักษา ในพื้นที่ที่มีปัญหาจราจรติดขัด 2 จุด คือ นครราชสีมา และนครสวรรค์ ตลอด 24 ชั่วโมง หากประชาชนพบเห็นหรือประสบอุบัติเหตุ สามารถแจ้งได้ที่หมายเลข 1669 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง โดยทีมกู้ชีพของหน่วยบริการที่อยู่ใกล้จุดเกิดเหตุที่สุด จะออกไปให้บริการภายใน 10 นาที *************************************** 25 ธันวาคม 2551


   
   


View 11    25/12/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ