ปลัด สธ. สั่งตั้งศูนย์ EOC รับมือ "อหิวาต์" พร้อมให้การสนับสนุนทีมช่วย "เมียนมา" ควบคุมป้องกันโรค เข้มเฝ้าระวังจุดเสี่ยงในไทย
- สำนักสารนิเทศ
- 173 View
- อ่านต่อ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยผลสำเร็จการขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงสาธารณสุข รอบ 6 เดือน ช่วยยกระดับการบริการ เพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน ทั้งการฉีดวัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูก ให้หญิงไทยกว่า 1.6 ล้านโดส, คัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงมากกว่า 5.8 แสนคน, ประชาชนพื้นที่ห่างไกล ได้พบแพทย์เฉพาะทางกว่า 1.4 แสนคน เตรียมลงนามกับกองทัพอากาศ และ กทม. ขยายบริการให้ชาวกรุง ดันร่างวาระส่งเสริมการมีบุตรเข้า ครม. เม.ย.นี้ และเปิดศูนย์การเรียนรู้สาธารณสุขชายแดนและพื้นที่เฉพาะ แห่งที่ 2 จังหวัดระนอง เดือน พ.ค. นี้
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า การดำเนินงานตามนโยบาย 13 ประเด็นของกระทรวงสาธารณสุข ในรอบ 6 เดือนแรก มีผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ หลายเรื่องเป็นไปตามเป้าหมาย Mid-Year Success ที่กำหนด อาทิ ประเด็นโครงการพระราชดำริ/เฉลิมพระเกียรติฯ/ที่เกี่ยวเนื่องกับพระบรมวงศานุวงศ์ ได้จัดโครงการพาหมอไปหาประชาชนฯ ไปแล้ว 37 ครั้ง ช่วยให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการ โดยแพทย์เฉพาะทาง 142,472 คน โดยครั้งต่อไป วันที่ 6 เมษายน 2567 จัดที่ โรงพยาบาลสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ วันที่ 7 เมษายน โรงพยาบาลเซกา จังหวัดบึงกาฬ และวันที่ 8 เมษายน โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเชียงของ จังหวัดเชียงราย และโรงพยาบาลคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร
นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า ประเด็นมะเร็งครบวงจร สามารถดำเนินการได้เกินกว่าเป้าหมายหลายเรื่อง เช่น การฉีดวัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูกในผู้หญิงอายุ 11-20 ปี ตั้งเป้า 1,200,000 โดส แต่ฉีดไปถึง 1,668,000 โดสแล้ว ส่วนการคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง ด้วยวิธี FIT Test เป้าหมาย 475,000 ราย คัดกรองได้ 585,571 ราย วิธีส่องกล้อง Colonoscope เป้าหมาย 38,000 ราย คัดกรองได้ 42,380 ราย นอกจากนี้ ยังมีการคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยตนเอง 6,048,550 ราย และคัดกรองโดยบุคลากรทางการแพทย์อีก 6,402,556 ราย ขณะที่ประเด็น รพ.กทม. 50 เขต 50 รพ.และปริมณฑล ได้เปิดโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี คุ้มเกล้า ให้บริการผู้ป่วยเขตมีนบุรี อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 29 มีนาคม ที่ผ่านมา และอยู่ระหว่างดำเนินการให้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับกองทัพอากาศ และ กทม. เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ในพื้นที่ กทม. ให้มากขึ้น
สำหรับประเด็นส่งเสริมการมีบุตร นอกจากมีคลินิกส่งเสริมการมีบุตรในโรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขครบทุกแห่งแล้ว ยังมีโรงพยาบาลที่รักษาภาวะมีบุตรยากด้วยวิธีการฉีดน้ำเชื้อเข้าโพรงมดลูก (IUI) 66 แห่ง และวิธีเด็กหลอดแก้ว (IVF) 3 แห่ง รักษาภาวะมีบุตรยากไปแล้ว 6,259 ราย รวมทั้งมีการคัดกรองกลุ่มโรคหายาก (IEM) 40 โรค ในทารกแรกเกิด 236,963 ราย ทำให้ค้นพบความผิดปกติ 812 ราย และคาดว่า (ร่าง) วาระแห่งชาติส่งเสริมการมีบุตร จะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีได้ ภายในเดือนเมษายนนี้ ส่วนประเด็นสาธารณสุขชายแดนและพื้นที่เฉพาะ มีการขึ้นทะเบียนประกันสุขภาพบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิเพิ่มขึ้นจากเดิมอีก ร้อยละ 0.8 และเตรียมจะเปิดศูนย์การเรียนรู้ฯ แห่งที่ 2 ที่จังหวัดระนอง ในเดือนพฤษภาคมนี้
****************************************** 4 เมษายน 2567