สาธารณสุข เตือนนักท่องป่าหน้าหนาวที่ชอบนอนเต้นท์หรือจัดแคมป์ไฟอย่าชะล่าใจ ระวังโรคสครับไทฟัส จากตัวไรอ่อนกัดในร่มผ้า รวมทั้งไข้ป่าจากยุงก้นปล่อง อันตรายถึงตาย ขณะนี้ทั้ง 2 โรคพบได้ตลอดปี พบคนป่วยรวมกันกว่า 30,000 ราย เสียชีวิตแล้ว 47 ราย แนะหากป่วยหลังเที่ยวป่า 10-14 วัน ควรพบแพทย์ นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วงฤดูหนาว สภาพอากาศเย็น ฟ้าโปร่ง ประชาชนจำนวนมากมักเดินทางไปท่องเที่ยวชมธรรมชาติ สูดไอหนาวในภาคเหนือ และนิยมไปเที่ยวป่า เดินป่า หรือกางเต็นท์นอนตามป่า ขอให้ระมัดระวังตนเอง เนื่องจากในป่าจะมีตัวไรอ่อน เป็นพาหะนำโรคสครับไทฟัส และมียุงก้นปล่องตัวการก่อโรคไข้จับสั่นหรือไข้มาลาเรีย ซึ่งยุงชนิดนี้อยู่ในป่า ออกหากินเวลากลางคืน ทั้ง 2 โรคนี้มีอันตรายทำให้เสียชีวิต จากรายงานโรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศในปี 2551 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมจนถึงพฤศจิกายน พบคนป่วยจาก 2 โรคนี้แล้ว 31,214 ราย เสียชีวิตรวม 47 ราย โดยโรคสครับไทฟัสป่วย 3,916 ราย เสียชีวิต 4 ราย และโรคมาลาเรียป่วย 27,298 ราย เสียชีวิต 43 ราย นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวว่า ผู้ป่วยโรคสครับไทฟัส พบมากสุดที่ภาคเหนือจำนวน 2,152 ราย อันดับ 1 คือเชียงราย แม่ฮ่องสอน ตาก เชียงใหม่ รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 987 ราย ส่วนภาคใต้และภาคกลางพบได้น้อย ส่วนโรคมาลาเรียพบมากที่สุดที่ภาคใต้ 11,532 ราย รองลงมาคือภาคเหนือ 9,513 ราย ภาคกลาง 5,265 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 988 ราย จึงขอให้ประชาชนระมัดระวัง ควรใส่เสื้อผ้าให้มิดชิด ใส่กางเกงขายาวเสื้อแขนยาวป้องกัน ทั้ง 2 โรคนี้ไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่มียารักษาให้หายขาดได้ ทางด้านนายแพทย์ หม่อมหลวงสมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคสครัปไทฟัส เกิดจากตัวไรอ่อน (Chigger) กัด ซึ่งในตัวไรอ่อนจะมีเชื้อริกเกทเซีย (Rickettsia orientalis) เชื้อนี้อาศัยอยู่ในระบบทางเดินอาหารของไรหลายชนิด เมื่อไรแก่ จะวางไข่ไว้บนดินและฟักเป็นตัวอ่อน ขนาดเท่าปลายเข็มหมุด มีสีส้มอมแดง มองเห็นด้วยตาเปล่า ไรอ่อนจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่มๆ ตามทุ่งหญ้า หรือพื้นที่ทุ่งหญ้าชายป่า ป่าโปร่ง พุ่มไม้เตี้ยๆ หรือพื้นที่ป่าละเมาะ รวมทั้งพื้นที่ที่เป็นป่าทึบแสงแดดส่องไม่ถึง ไรอ่อนจะกินน้ำเหลืองของสัตว์เลือดอุ่น เช่น นก หนู สัตว์เลื้อยคลาน รวมทั้งคนที่เดินผ่านด้วย จุดที่ไรอ่อนมักชอบกัดคือในบริเวณร่มผ้า ได้แก่ ที่อวัยวะสืบพันธุ์ ขาหนีบ เอว ลำตัว รักแร้และคอ ผู้ที่ถูกไรอ่อนกัดร้อยละ 30 จะพบแผลบุ๋มคล้ายโดนบุหรี่จี้ (Eschar) ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรคนี้ ตรงกลางรอยแผล จะเป็นสะเก็ดสีดำ ส่วนรอบๆ แผลจะแดง หลังถูกกัดประมาณ 10-12 วัน จะมีไข้สูง ปวดศีรษะมาก ปวดเมื่อยตามตัว ตาแดง อาจมีอาการทางปอดและสมองได้ ควรรีบไปพบแพทย์ หากรักษาไม่ทันอาจทำให้เสียชีวิตได้ ในการรักษาประชาชนควรต้องแจ้งประวัติการไปเที่ยวป่าให้แพทย์ทราบด้วย การป้องกันไม่ให้ไรอ่อนกัด ผู้ที่จะไปเดินป่าหรือกางเต๊นท์นอนในป่า ควรใส่รองเท้า สวมถุงเท้ายาวหุ้มปลายขากางเกงไว้ และเหน็บปลายเสื้อเข้าในกางเกง ใส่เสื้อแขนยาวปิดคอ ใช้ยาทากันแมลงกัดตามแขนขา แต่ไม่แนะนำให้ใช้ในรายที่ผิวหนังมีรอยถลอกหรือมีแผล และไม่ควรใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 4 ขวบ เพราะเด็กอาจเผลอขยี้ตาหรือหยิบจับอาหารและสิ่งของใส่ปาก ทำให้รับสารเคมีเข้าสู่ร่างกาย เป็นอันตรายได้ การทาครั้งหนึ่งจะออกฤทธิ์นาน 4 ชั่วโมง หลังออกจากป่าให้อาบน้ำให้สะอาด พร้อมนำเสื้อผ้าที่สวมใส่มาซักให้สะอาดทันที เพราะตัวไรอาจติดมากับเสื้อผ้าได้ ส่วนการตั้งค่ายพักในป่า ควรทำบริเวณค่ายพักให้โล่งเตียน หลีกเลี่ยงการนั่งและนอนบริเวณพุ่มไม้ ป่าละเมาะ หรือหญ้าขึ้นรก สำหรับโรคมาลาเรีย เกิดจากเชื้อพลาสโมเดียม (Plasmodium) ซึ่งมี 4 ชนิด ที่พบบ่อยส่วนใหญ่เป็นชนิด พี.ฟัลซิพารัม (P.falciparum) ซึ่งเป็นชนิดที่รุนแรง และ พี.ไวแว็ก (P.vivax) มีระยะฟักตัวประมาณ 7-14 วัน มียุงก้นปล่องเป็นตัวแพร่เชื้อ อาการของโรคคือ ไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ พบผู้ป่วยได้ตลอดทั้งปี ทุกกลุ่มอายุ ลักษณะของอาการไข้ หากเป็นเชื้อฟัลซิพารัม จับไข้ทุก 36 - 48 ชั่วโมงหรือทุกวันก็ได้ และอาจมีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงเช่น มาลาเรียขึ้นสมอง ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ปัสสาวะสีดำ ไตวาย ปอดบวมน้ำ ทำให้เสียชีวิตได้ ส่วนเชื้อไวแวก จับไข้ทุก 48 ชั่วโมงหรือจับวันเว้นวัน การป้องกันโรคนี้ ไม่แนะนำให้กินยาป้องกันก่อนเข้าป่า เนื่องจากจะทำให้เข้าใจผิดว่ากินยาแล้วจะไม่ป่วยเป็นไข้มาลาเรีย และหากป่วยเป็นไข้มาลาเรียจริงๆ ก็จะตรวจไม่พบเชื้อ ดังนั้นนักท่องเที่ยวที่จะเข้าไปนอนแคมป์ตามป่าเขา ควรเตรียมมุ้งหรือเต้นท์ชนิดที่มีตาข่ายกันยุง และสวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว แนะนำให้ใช้สีอ่อนๆ เพราะการใส่เสื้อผ้าสีดำ มักดึงดูดความสนใจให้ยุงกัดได้มาก รวมทั้งควรจุดยากันยุง ทายากันยุงหรือยาทาไล่ยุงที่แขน ขา ใบหู หลังคอ และส่วนที่อยู่นอกเสื้อผ้า เพื่อป้องกันยุงกัด ทั้งนี้ภายหลังกลับจากเที่ยวป่าแล้ว หากมีไข้ ต้องรีบพบแพทย์ และต้องแจ้งประวัติแก่แพทย์ที่ตรวจรักษาด้วยว่ามีประวัติการเข้าป่า เพื่อให้การรักษาอย่างทันท่วงที ***************************** 21 ธันวาคม 2551


   
   


View 14    21/12/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ