สาธารณสุขเผยเด็กวัยรุ่นไทยใช้เวลาเล่นเกมส์คอมพิวเตอร์ มากกว่าออกกำลังกาย มีแนวโน้มสูงขึ้นจนติดเกมส์ทำให้เกิดอาการหงุดหงิด ก้าวร้าว และเสียการเรียนในที่สุด แถมเป็นโรคกระเพาะอาหาร กระทรวงสาธารณสุขจึงได้เร่งจัดกิจกรรมรณรงค์กระตุ้นให้เด็กหันมาออกกำลังกาย ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ให้เป็นนักกีฬามืออาชีพ ลด ละ เลิกการเล่นเกมแบบหมกมุ่น
วันนี้(18 ธันวาคม 2551)นายวิชาญ มีนชัยนันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีปิดการแข่งขันฟุตซอลเพื่อสุขภาพ ครั้งที่ 1 ที่ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา (มีนบุรี) กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีทีมจากโรงเรียนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเข้าร่วมแข่งขันทั้งหมด 48 ทีม ทีมที่ชนะเลิศได้แก่ ทีมโรงเรียนอิสลามวิทยาลัย รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ทีมโรงเรียนราชวินิต บางเขน รองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ทีมโรงเรียนเทพศิรินทร์
นายวิชาญ กล่าวว่า จากการสำรวจสภาวะของวัยรุ่นไทยล่าสุด อยู่ในสภาพที่น่าห่วง พบว่ามีแนวโน้มใช้เวลาอยู่กับอินเตอร์เน็ตและเล่นเกมส์มากขึ้น สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ได้สำรวจผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในปี 2546 พบจำนวนผู้เล่นเกมส์มีแนวโน้มสูงขึ้น ส่วนใหญ่อายุ 10-14 ปี ใช้เวลาเล่นอินเตอร์เน็ตเฉลี่ยสัปดาห์ละ 9.2 ชั่วโมง โดยร้อยละ 15 เล่นมากกว่าสัปดาห์ละ 20 ชั่วโมง ถือเป็นตัวเลขที่สูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่มีเทคโนโลยีล้ำสมัยอย่างสหรัฐอเมริกา และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเนื่องจากคนเล่นเกมส์เมื่อชนะหรือได้รับคะแนนเพิ่มขึ้นสมองจะหลั่งสารความสุข และเกิดความต้องการเอาชนะไม่รู้จักจบสิ้น ทำให้ต้องแสวงหาการเล่น และเพิ่มระยะเวลาเล่นเกมส์ให้ยาวนาน หากไม่ได้เล่นเกมส์ จะออกอาการ หงุดหงิด ก้าวร้าว ตามมาด้วยภาวะซึมเศร้า และสุดท้ายทำให้สูญเสียการทำหน้าที่หลัก เช่น การเรียน ในขณะที่กระทรวงสาธารณสุขส่งเสริมให้คนไทยออกกำลังกายเพื่อการมีสุขภาพดี สัปดาห์ละอย่างน้อย 3 วัน วันละ 30 นาที แต่ผลสำรวจล่าสุดในปี 2550 ในกลุ่มวับรุ่นอายุ 11-14 ปี ออกกำลังกายร้อยละ 18 กลุ่มอายุ 15-24 ปี ออกกำลังกายเพียงร้อยละ 29 เท่านั้น
ในการแก้ไขปัญหาเด็กติดเกมส์ กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายรณรงค์ให้เยาวชนไทยทั้งในเขตเมืองและชนบท หันมาออกกำลังกายมากขึ้น ทั้งเล่นกีฬา ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ เล่นฟุตบอล ฟุตซอลตามความชอบและความสนใจ เพื่อใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพ ลด ละ เลิกพฤติกรรมหมกมุ่นเล่นเกม เพื่อเสริมสร้างสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีของเยาวชน โดยทักษะการออกกำลังกาย สามารถพัฒนาให้เป็น นักเล่นกีฬา อย่างมืออาชีพได้ และก้าวไปสู่ทีมชาติ สร้างชื่อเสียงแก่สถาบัน ประเทศชาติได้ไม่ยาก
ทางด้านนายแพทย์ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา อธิบดีกรมอนามัยกล่าวถึงผลกระทบในทางลบของการเล่นเกม คือ เด็กจะผอมโซ เป็นโรคกระเพาะ เพราะทานอาหารไม่ตรงเวลา ป่วยง่ายเนื่องจากไม่ได้ออกกำลัง ปวดข้อ ปวดหลัง ปวดตา และกระดูก มีการกระตุ้นของสารโดปามีน ซึ่งออกฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทอีกต่อหนึ่ง ทำให้เด็กสนุกเกินความพอดี มีแรงมากเหมือนใช้ยาบ้า ทำให้เด็กเกิดอาการโหยหา และเกิดอาการโรคกล้ามเนื้อเกร็ง ข้อเส้นเอ็นอักเสบเรื้อรัง และหนักเข้าก็อาจเป็นโรคลมชัก นอกจากนี้ยังทำให้เสียการเรียน การเรียนตกต่ำ ไม่มีสมาธิในการเรียน สมองเฉื่อย และยังมีพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรง เข้ากับเพื่อนคนอื่นไม่ได้ นอกจากเพื่อนที่เล่นเกมด้วยกัน ชอบเอาชนะ และโมโหร้าย
ธันวาคม ******************************* 18 ธันวาคม 2551
View 11
18/12/2551
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ