กรมวิทย์ เปิดบันได 4 ขั้น สู่การพัฒนาเป็น RLU hospital เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย “RLU ปลอดภัย คุ้มค่า นำพาประโยชน์ต่อผู้ป่วยและระบบสาธารณสุขไทย”

วันนี้ (15 มีนาคม 2567) ที่โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ จ.นนทบุรี นายแพทย์ปิยะ ศิริลักษณ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดการสัมมนาบันได 4 ขั้นสู่การพัฒนาเป็น RLU hospital และมอบนโยบายทิศทางการตรวจทางห้องปฏิบัติการอย่างสมเหตุผล (Rational Laboratory Use, RLU)” ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยมีคณะกรรมการจัดทำแนวทาง RLU ผู้บริหารกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผู้บริหาร และผู้แทนจากโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ RLU ร่วมสัมมนารวมจำนวน 500 คน  ทั้งในรูปแบบ onsite และ online สำหรับการสัมมนา ประกอบด้วย การบรรยาย อภิปราย ตอบข้อซักถาม รับฟังความคิดเห็นของผู้แทนจากโรงพยาบาลต่างๆ ที่เป็นผู้ปฏิบัติจริง และข้อเสนอแนะทั้งด้านบริหารจัดการและด้านวิชาการจากคณะกรรมการจัดทำแนวทาง RLU รวมทั้งสื่อสารการทำ RLU ให้ยั่งยืนตามบันได 4 ขั้นสู่การพัฒนาเป็น RLU hospital การรายงานผลด้วย e-Report และเกณฑ์การเข้าร่วมรับรางวัล RLU award เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการนำแนวทาง RLU ไปประยุกต์ใช้ในโรงพยาบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประโยชน์สูงสุดให้กับระบบสุขภาพของประเทศไทย

นายแพทย์ปิยะ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้จัดทำโครงการ “การตรวจทางห้องปฏิบัติการอย่างสมเหตุผล (Rational Laboratory Use, RLU)” ตั้งแต่ปี 2565 โดยได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่าย ผู้เชี่ยวชาญจากราชวิทยาลัยฯ สมาคมโรคฯ มหาวิทยาลัย สภา สมาคม รวมถึงชมรมเทคนิคการแพทย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำความรู้จากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารต่างๆ มาจัดทำร่างแนวทาง RLU ประกอบด้วยโรคนำร่อง 8 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคตับ โรคไต Check-up โรคติดเชื้อ (Pneumonia, Diarrhea, TB, Dengue, Sepsis, Central nervous system (CNS) infection) โรคความดันโลหิตสูง และการเตรียมผู้ป่วยก่อนผ่าตัด (Preoperative)  โดยระบุรายการทดสอบที่ควรสั่งตรวจและ Test ที่ไม่จำเป็นต้องสั่งตรวจในแต่ละกลุ่มโรค/ภาวะ จากนั้นได้เชิญโรงพยาบาลนำร่องเฟส 1 จำนวน 23 แห่ง ครอบคลุม 12 เขตสุขภาพทั่วประเทศ เพื่อให้การสั่งตรวจทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ มีความเหมาะสม คุ้มค่า เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยมากที่สุด โดยผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของโรงพยาบาลนำร่องได้มีนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยและระบบสุขภาพ เช่น การปรับระบบ HIS ของโรงพยาบาล มีการสร้างระบบแจ้งเตือนแพทย์ เพื่อให้ทราบว่ามีการสั่งตรวจแล็บกับผู้ป่วยรายดังกล่าวแล้ว ทำให้แพทย์ไม่สั่งแล็บซ้ำ ปรับเมนูการสั่งแล็บให้เป็นการสั่งทีละรายการไม่เป็นชุด แจ้งเตือนความถี่ที่เหมาะสมในการสั่งตรวจแล็บ เพื่อจะได้ไม่ลืมการตรวจที่จำเป็นตามหลักวิชาการ มีระบบการสอบทานการสั่งตรวจแล็บ โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มีการพูดคุยทบทวนวางแนวทางที่เหมาะสมในการสั่งตรวจแล็บในโรงพยาบาลให้เหมาะสมกับบริบท ทำให้หลายโรงพยาบาลมีผลสำเร็จที่แสดงด้วยการสั่งตรวจที่เหมาะสมขึ้น โดยบางโรงพยาบาลสามารถแสดงถึงจำนวนและค่าใช้จ่ายที่ลดลง และได้เชิญชวนโรงพยาบาลทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการ RLU ปัจจุบันมีโรงพยาบาลสมัครเข้าร่วมกว่า 500 แห่ง 

นายแพทย์ปิยะ กล่าวต่อว่า RLU มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้การสั่งตรวจทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์มีประสิทธิภาพและถูกต้อง โดยเลือกใช้การตรวจทางห้องปฏิบัติการอย่างเหมาะสมในการคัดกรอง การวินิจฉัย การติดตามผลการรักษาและพยากรณ์โรค โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นสำคัญ ทั้งนี้ การตรวจทางห้องปฏิบัติการที่มากเกินไปอาจนำไปสู่การสิ้นเปลืองที่ไม่จำเป็น ในขณะที่การตรวจที่น้อยเกินไปอาจนำไปสู่การวินิจฉัยที่ผิดพลาด หรือเกิดผลเสียหายต่อการรักษาผู้ป่วย การศึกษาของต่างประเทศพบว่า มีการสั่งตรวจที่น้อยเกินไปประมาณ 45% และมีการสั่งตรวจที่มากเกินไปประมาณ 20% ดังนั้นหากนำเอา RLU มาประยุกต์ใช้ในระบบบริการสุขภาพของประเทศที่มีค่าใช้จ่ายทางห้องปฏิบัติการเฉพาะในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขปีละประมาณ 15,000 ล้านบาท อาจทำให้ลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้และมีงบประมาณนำไปดูแลผู้ป่วย ประชาชนในด้านอื่นๆ 

“กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยังยืนยันสนับสนุนเพื่อขับเคลื่อนโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนพัฒนาโรงพยาบาลที่สมัครเข้าร่วมทั้งหมดกว่า 500 แห่ง มีระบบการทำ RLU อย่างยั่งยืนตามแนวทางบันได 4 ขั้น รวมถึงต่อยอดเพื่อรับรางวัล RLU award สำหรับบันได 4 ขั้นสู่การพัฒนาเป็น RLU hospital เริ่มจากขั้นแรกโรงพยาบาลแต่งตั้งคณะกรรมการ RLU และผู้รับผิดชอบหลักที่เป็นสหสาขาวิชาชีพ (อาจจะเรียกว่า Mr.RLU หรือ RLU coordinator) เพื่อจัดทำประกาศเจตนารมณ์ มุ่งมั่นร่วมกัน สู่ RLU hospital ขั้นที่สองคือมีการวิเคราะห์ข้อมูลและคัดเลือกโรค หรือภาวะ หรือรายการตรวจที่เป็นปัญหา เช่น การสั่งตรวจที่น้อยเกินไป และการสั่งตรวจที่มากเกินไป โดยมีการประชุมคณะกรรมการ RLU ของโรงพยาบาลแล้วมีมติเพื่อดำเนินการต่อไป ขั้นที่สามจะเป็นการกำหนดมาตรการ หรือแนวทางปฏิบัติ เพื่อลดการสั่งตรวจที่น้อยเกินไป หรือมากเกินไป ซึ่งแต่ละโรงพยาบาลจะจัดทำหลักฐานแสดงมาตรการ ประกาศ หรือแนวทางกำหนดในการปฏิบัติงานที่ชัดเจน เพื่อก้าวไปสู่บันไดขั้นที่สี่ คือ การกำหนดตัวชี้วัดและการประเมินผล RLU โดยโรงพยาบาลมีการกำหนดตัวชี้วัด ติดตามผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์อย่างสมเหตุผล และการประเมินผลเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมาย RLU ปลอดภัย คุ้มค่า นำพาประโยชน์ ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งต่อผู้ป่วยและโรงพยาบาลอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง ทั้งนี้โรงพยาบาลที่สนใจร่วมโครงการ RLU สามารถดูรายละเอียดได้ที่ www.rluthailand.com” นายแพทย์ปิยะ กล่าว



   
   


View 188    15/03/2567   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสารนิเทศ