โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กรมการแพทย์ ได้พัฒนาระบบการป้องกันผื่นแพ้ยารุนแรงด้วยการตรวจวินิจฉัยทางเภสัชพันธุศาสตร์และมีส่วนร่วมในการใช้ฐานข้อมูลทางด้านเภสัชพันธุศาสตร์ สู่การให้บริการในระบบสาธารณสุขช่วยลดข้อจำกัดเดิมเพื่อป้องกันผู้ป่วยแพ้ยารุนแรง

          นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรงพยาบาลนพรัตนราชธานีเคยพบผู้ป่วยที่มีการแพ้ยารุนแรง โดยเฉพาะยารักษาโรคเกาต์ ชื่อ allopurinol กับ ยากันชัก ชื่อ carbamazepine ข้อมูลย้อนหลังระหว่างปี พ.ศ. 2544 – 2557 พบคนไข้แพ้ยารุนแรงทั้งหมด 20 ราย โรงพยาบาลจึงได้พัฒนาระบบการป้องกันผื่นแพ้ยารุนแรงด้วยการตรวจวินิจฉัยทางเภสัชพันธุศาสตร์ โดยเมื่อแพทย์เริ่มสั่งใช้ยาครั้งแรกจะมีการแจ้งเตือนในระบบ HIS ของโรงพยาบาล เพื่อให้เภสัชกรได้ให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยในกลุ่มที่มีโอกาสเสี่ยงเกิดผื่นแพ้ยารุนแรง ซึ่งสามารถป้องกันได้ด้วยการตรวจยีนแพ้ยาก่อนเริ่มยา โดยตลอดระยะเวลา 10 ปี ที่ผ่านมา โรงพยาบาลนพรัตนราชธานีได้ส่งตรวจวินิจฉัยทางเภสัชพันธุศาสตร์ทั้งสิ้น 1879 ราย ทำให้ไม่พบผู้ป่วยรายใหม่ที่เริ่มยา allopurinol และ carbamazepine เกิดการแพ้ยาอย่างรุนแรงอีกเลย

          เภสัชกรวีรพัชร  พานทอง เภสัชกรชำนาญการ โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี  ได้กล่าวเพิ่มเติมว่าเดิมข้อมูลการตรวจยีนแพ้ยาจะนำมาใช้ได้จำกัดเฉพาะใน รพ.ที่ส่งตรวจ และเภสัชกรจะออกบัตรเตือนเรื่องยาว่าผู้ป่วยมีผลตรวจยีนแพ้ยาในรายที่ผลเป็นบวกให้แก่ผู้ป่วย แต่ปัญหา คือผู้ป่วยอาจไม่ได้พกบัตรติดตัวหรือทำหาย จึงไม่มีข้อมูลไว้แจ้งบุคลากรการแพทย์เมื่อไปรักษาที่โรงพยาบาลอื่น แต่หากนำแพลตฟอร์มผูกพันธุ์เข้ามาใช้ จะช่วยให้สามารถเข้าถึงข้อมูลผลตรวจยีนแพ้ยาได้สะดวกทุกที่ทุกเวลาเมื่อได้รับความยินยอมจากผู้ป่วย ทำให้สามารถลดค่าใช้จ่ายการตรวจซ้ำและการเจ็บตัวจากการเจาะเลือด และไม่ต้องกังวลกรณีผู้ป่วยไม่พกหรือทำบัตรเตือนเรื่องยาหาย สามารถดูรายละเอียดได้ที่ http:phukphan.dmsc.moph.go.th และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 14 แห่งทั่วประเทศ

 #ช่วยลดข้อจำกัดเดิมในการดูแลผู้ป่วยที่ได้รับการตรวจวินิจฉัยทางเภสัชพันธุศาสตร์#โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี#กรมการแพทย์ #การแพ้ยา

 

********************************

-ขอขอบคุณ-

13 มีนาคม 2567



   


View 109    13/03/2567   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสารนิเทศ