แถลงข่าวเรื่อง “สถานการณ์ฝุ่น PM2.5” 
โดย นายสุรชาติ เทียนทอง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข วันที่ 10 มีนาคม 2567 ณ ศูนย์ปฏิบัติการไฟป่าเชียงใหม่จากสถานการณ์ PM2.5 อยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีแดง) ในจังหวัดภาคเหนือตอนบนอย่างต่อเนื่องใน 9 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน น่าน แพร่ พะเยา และตาก โดยสถานการณ์มีค่าฝุ่น PM2.5 สูงสุดเท่ากับ 199.0  ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในพื้นที่ตำบลเวียงใต้ อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน (ข้อมูลวันที่ 9 มีนาคม 2567) เนื่องมาจากสภาพอุตุนิยมวิทยาประกอบกับพบจุดความร้อนในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดยจากการเฝ้าระวังการเจ็บป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับการรับสัมผัสมลพิษทางอากาศ พบมีแนวโน้มการกำเริบของโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคทางเดินหายใจ โรคผิวหนังอักเสบ และโรคเยื่อบุตาขาวอักเสบ ที่เพิ่มขึ้น กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับภาคีเครือข่ายดำเนินงานโดยมี 4 มาตรการ 10 กิจกรรมดังนี้
1. ส่งเสริมการลดมลพิษทางอากาศ
- สื่อสารสร้างความรอบรู้ สร้างความเข้มแข็งของชุมชนและประชาชน ผ่านทุกช่องทาง จำนวน 29,736 ครั้ง
- ส่งเสริมองค์กรลดมลพิษ Green energy (รถยนต์ไฟฟ้า/พื้นที่สีเขียว/ลดขยะ) 
2. ลดและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ
- เฝ้าระวังสถาณการณ์และแจ้งเตือนความเสี่ยงต่อสุขภาพ
- เฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพและพฤติกรรมสุขภาพและรายงานผลกระทบด้านสุขภาพจากภาวะหมอกควันโดยเฉพาะ 4 กลุ่มโรคสำคัญ ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคทางเดินหายใจ โรคผิวหนังอักเสบ และโรคเยื่อบุตาขาวอักเสบ โดยใช้ฐานข้อมูล smog-epinort
3. จัดบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข
- จัดเตรียมห้องปลอดฝุ่นของเขตสุขภาพที่ 1 ทั้งสิ้น 2,095 แห่ง และห้องปลอดฝุ่นสำหรับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจำนวน 1,115 แห่ง
ให้ความรู้เพื่อเป็นการป้องกันตนเองโดยแนะนำวิธีทำห้องปลอดฝุ่นหรืออาจใช้มุ้งสู้ฝุ่นเพื่อช่วยลดปริมาณฝุ่น
- ให้บริการคลินิกมลพิษ 37 แห่งและคลินิกมลพิษออนไลน์ 48 แห่ง
- ลงพื้นที่บริการเชิงรุกเพื่อดูแลประชาชน รวมทั้งสิ้น 43,954 ครั้ง
- สนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลแก่กลุ่มเสี่ยง 
โดยมีหน้ากากคงคลังของเขตสุขภาพที่ 1 จำนวน 748,346 ชิ้น หน้ากาก N95 จำนวน 110,629 ชิ้น 
4. เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ
- เตรียมความพร้อมเพื่อเปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (Public health emergency operation center: PHEOC) เมื่อค่าฝุ่น PM2.5 สูงสุดของจังหวัด โดยอ้างอิงจากสถานี Air4Thai เท่ากับ 37.5 ติดต่อกัน 3 วัน หรือ มากกว่า 37.6 มคก. /ลบ.ม. 1 จุดตรวจขึ้นไป ปัจจุบันได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินแล้วทุกจังหวัด
- ส่งเสริมและขับเคลื่อนกฎหมาย พรบ. การสาธารณสุข พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
- พรบ. โรคจากการประกอบอาชีพและโรคสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562

คำแนะนำการปฏิบัติตัวของประชาชนเพื่อหลีกเลี่ยงฝุ่น PM2.5 

1. ขอให้ประชาชนตรวจสอบสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ได้ที่ Application Air4Thai หรือ Life Dee และปฏิบัติตนตามระดับสีค่าฝุ่นสูง ดังนี้ 
 สีเหลือง ระดับปานกลาง (25.1 – 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) 
- เลี่ยงการทำกิจกรรมที่ใช้แรงมาก สังเกตอาการตนเอง 
 สีส้ม (37.6 – 75.0 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) และ สีแดง (75.1 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ขึ้นไป) 
- ควรลดเวลาการทำกิจกรรมนอกบ้าน ถ้าออกนอกบ้านให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น และสังเกตตนเอง หากมีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์ และผู้มีโรคประจำตัวควรเตรียมยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นให้พร้อม 
2. สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น โดยอาจะใช้ หน้ากาก N95 ต้องเลือกที่มีขนาดเหมาะ แนบกระชับกับใบหน้า ครอบจมูกและใต้คางได้อย่างมิดชิด  หรือหน้ากากอนามัย
3. เลี่ยงการไปในพื้นที่ที่มีฝุ่นสูง หรือลดระยะการอยู่นอกอาคาร 
4. ปิดประตูหน้า หน้าต่างให้มิดชิด หมั่นทำความสะอาด และอยู่ในห้องปลอดฝุ่น
5. ลดกิจกรรมต่างๆ ที่ก่อให้เกิดฝุ่น

 ทั้งนี้ ประชาชนสามารถมาใช้บริการห้องปลอดฝุ่น ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ให้หน่วยบริการสาธารณสุขจัดเตรียมห้องปลอดฝุ่นให้บริการเพื่อลดโอกาสรับสัมผัสมลพิษทางอากาศจากฝุ่น PM 2.5 สนับสนุนให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สถานศึกษาและสถานที่เอกชนจัดเตรียมห้องปลอดฝุ่นร่วมด้วย หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ หรือ ค้นหาห้องปลอดฝุ่นใกล้บ้าน ได้ที่เวปไซต์ห้องปลอดฝุ่น https://podfoon.anamai.moph.go.th



   
   


View 128    10/03/2567   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสารนิเทศ